xs
xsm
sm
md
lg

“หมอนิรันดร์” มองปรากฏการณ์ ส.ว.เสียงแตก ชี้ต้องยอมเสียอำนาจบางส่วน ลดกระแส “นศ.ปลดแอก”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” อดีต ส.ว. มองปรากฏการณ์ ส.ว.เสียงแตก แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ชี้ต้องยอมเสียอำนาจบางส่วน เพื่อลดกระแสการชุมนุมนักศึกษาปลดแอก

รายงานพิเศษ

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ดูเหมือนจะเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญทางการเมืองในขณะนี้ เพราะเป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก”

แต่หากไปดูในข้อกฎหมาย จะพบเงื่อนไขหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 ก็คือ 84 เสียง จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยมีความจริงที่ต่างก็รู้กันว่า ส.ว. 250 คน ล้วนมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และทุกคนลงคะแนนโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ “เสียงแตก” ในกลุ่ม 250 ส.ว. ขึ้น เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ โดย ส.ว. ส่วนหนึ่ง ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ให้มีสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หรือแก้ไขในบางมาตราอื่นได้ ส่วน ส.ว. อีกกลุ่ม กลับเคลื่อนไหวสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ขึ้นมาใหม่

ส.ว. ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็เป็น “คนกันเอง” ทั้งสิ้น จนน่าวิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ มีเป้าหมายอย่างไร?

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วิเคราะห์ว่า การขยับตัวของรัฐบาลและ ส.ว. ที่จะยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนมีผลมาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่มีข้อเรียกร้องหลัก คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่มีพลังและสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาลได้พอสมควร

นพ.นิรันดร์ เห็นว่า ที่มาและอำนาจของ ส.ว. กลายเป็นจุดอ่อนทางการเมืองที่ทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโจมตีได้ง่าย ตั้งแต่การใช้กลไกของ คสช. ในการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน กลับมีสิทธิลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

“ผมเชื่อว่าในขณะนี้มี ส.ว. บางส่วน ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้ง สสร. ขึ้นมาจริงๆ เพราะเขาเห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาให้เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด แต่อีกด้าน ที่มี ส.ว. ออกมาสนับสนุนการแก้ไขเฉพาะรายมาตรา ซึ่งรวมถึงมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นเพราะวิเคราะห์กันแล้วว่า การยอมเสียอำนาจในส่วนนี้ไป ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก เพราะได้ใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

และการยอมให้แก้ไขในประเด็นนี้ ก็อาจมองได้ว่าจะช่วยลดกระแสผู้สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาลงไปได้บ้าง เป็นการยอมเสียอำนาจบางส่วน เพื่อรักษาอำนาจ ส.ว. ในสภาฯ ไว้มากกว่า ซึ่งก็เชื่อได้ว่า แนวทางยอมให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. น่าจะเป็นแนวทางที่รัฐบาลพร้อมเดินหน้าไปอยู่แล้ว เพื่อลดกระแสการต่อต้านที่ยกระดับไปไกลกว่ารัฐบาลแล้ว” นพ.นิรันดร์ กล่าว

ส่วนข้อสังเกตที่มีหลายฝ่ายมองว่า การเคลื่อนไหวที่ทำให้ดูเหมือนความเห็นของ ส.ว. แตกออกไปเป็นหลายทิศทาง อาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้ ไม่มีเสียง ส.ว. ลงชื่อสนับสนุนญัตติใดเลยที่จะได้ครบ 84 เสียง จนทำให้กระบวนการไปต่อไม่ได้ อดีต ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง (ปี 2543-2549) อย่าง นพ.นิรันดร์ ยังเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

โดยดูได้จากท่าทีของ ส.ว. หลายคนที่สนับการตั้ง สสร. ดูจะมีความเป็นอิสระมากขึ้น หลังรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วกว่า 1 ปี แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญในขณะนี้ คือ การเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษาที่มากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้มีเพียงการยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะช่วยลดกระแสต่อต้านรัฐบาลลงได้

โดยเฉพาะก่อนถึงกำหนดนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย. นี้ จะต้องมีสัญญาณยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนกว่านี้ออกมาแน่นอน ก่อนที่สถานะของรัฐบาลจะบานปลายกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว หรือแม้แต่หากมีการทำรัฐประหารอีก ก็จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เหมือนเมื่อปี 2557 อีกแล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นแน่นอนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น