“กิตติศักดิ์” เผยกลุ่ม 60 ส.ว.เตรียมหารือชักฟืนออกจากกองไฟ เชื่อโหวตไปทิศทางเดียวกัน ส่วนปิดสวิตช์ ส.ว.คงทำไม่ได้ แต่อำนาจโหวตนายกฯ หมดความจำเป็น ถ้าฝืนคงไว้บ้านเมืองไม่สงบ ย้ำห้ามแตะหมวด 1-2 ชี้ตั้ง ส.ส.ร.ใช้เวลานาน แก้รายมาตราดีกว่า เมินผู้ชุมนุมกดดัน
วันนี้ (8 ก.ย.) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 15.00 น.จะมีการหารือของกลุ่ม 60 ส.ว.ถึงหลักการและจุดยืนในการแก้ไขและธรรมนูญ ว่าที่ประชุมจะคิดเห็นอย่างไร โดยเชื่อมั่นว่าทั้ง 60 คนจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีความคิดเห็นที่ตรงกัน มีความห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองจากสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องการชักฟืนออกจากกองไฟ ประเด็นไหนสามารถที่จะทำหรือถอยได้ก็ยินดีที่จะทำ แต่หากเกินเลยในสิ่งที่จะทำได้ก็จะไม่ทำ ส่วนเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 84 เสียงสนับสนุนเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องหารือในกลุ่มซึ่งในวันนี้ (8 ก.ย.) จะชัดเจน
นายกิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.ยอมรับว่าจะมีการนำเข้าไปหารือ คิดว่าอาจทำไม่ได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้วสำหรับอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และยังฝืนคงไว้อำนาจนี้ บ้านเมืองจะไม่สงบสุข แต่ยังเห็นว่าควรจะมีวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
“ประเด็นแรกอยู่ที่ว่า ส.ว.จะเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 หรือไม่ และในฐานะกรรมาธิการการเมืองของวุฒิสภา เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ หากแก้บางเรื่องที่เป็นปัญหาก็ยินดีที่จะแก้ และสิ่งต้องห้าม ส.ว.คือ ห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2” นายกิตติศักดิ์กล่าว
นายกิตติศักดิ์ยังกล่าวถึงการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เป็นการดำเนินการที่ใช้จ่ายงบประมาณ และเปลืองเวลา หากแก้บางมาตราด้วยกลไกของ 2 สภาจะใช้ระยะเวลาน้อยกว่า ซึ่งในอดีตใช้ ส.ส.ร.อาจแก้ไขนานถึง 10 ปี อย่างในอดีตที่เคยเกิดขึ้น
“การตั้ง ส.ส.ร.จะได้อย่างที่คิดหรือไม่ หรือหากแก้ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งจะเกิดความขัดแย้งอีกหรือไม่ ผมกลัวความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอีก ยืนยันว่า ส.ว.ไม่เคยห่วงอำนาจและพร้อมที่จะแก้ในบางประเด็นบางมาตรา เพราะอำนาจแก้ไขอยู่ที่ ส.ว.100 เปอร์เซ็นต์”
นายกิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาเคลื่อนไหวกดดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ส่งผลต่อการพิจารณาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเอง เพราะหากใช้กลุ่มผู้ชุมนุมกดดันจะไม่จบสิ้น รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ไม่มีฉบับไหนเป็นฉบับที่มาจากประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม การจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านการทำประชามติ 16 ล้านเสียงรวมถึงยังมีคำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นมาอีก 15 ล้านเสียงซึ่งเป็นความเห็นที่มาจากประชาชน