60 ส.ว.เคาะกลุ่มอิสระ เน้นพลเรือน หารือแก้ รธน. แสดงจุดยืนโละ ม.272 เลิกอุ้มนายกฯ ตั้งโต๊ะ 8 ก.ย.หาแนวทางรื้อกติกาใหม่ เชื่อ ปล่อยฟรีโหวตให้วุฒิฯลงมติ ชี้ ปิดสวิตช์ ส.ว.ขัด รธน.เป็นไปไม่ได้ แค่คำพูดโก้ๆ
วันนี้ (6 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ปรากฏว่า ขณะนี้ ส.ว.ยังเสียงแตกทางความคิดเห็น มีท้ั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้ตั้่ง และไม่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ว.มีการตั้งกลุ่ม ส.ว. 60 กว่าคน ใช้ชื่อว่า กลุ่ม ส.ว.อิสระ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ไม่มีทหาร ตำรวจ มีการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวทางของกลุ่มเห็นตรงกันว่า สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพร้อมให้แก้ไขมาตรา 272 เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ยอมรับอยู่ในกลุ่ม ส.ว.อิสระ เป็นกลุ่มที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ แนวทางของกลุ่มมีความชัดเจนสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรแก้ไขแบบรายมาตรา ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะมองว่า ส.ส.ร.ที่มาจาการเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่เป็นเงา ส.ส. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งไม่จบ และไม่สบายใจว่า ส.ส.ร.จะยกร่างรัฐธรรมนูญเลยเถิดไปขนาดไหน กลุ่ม ส.ว.อิสระ พร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรทำเป็นแบบรายมาตรา เพราะจะไม่สร้างความขัดแย้ง และประหยัดงบประมาณ หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ขัดข้อง เพราะแต่ละคนเห็นตรงกันว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯแล้ว ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เอง เพื่อพิสูจน์บารมี จะได้มีความสง่างาม ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.มาช่วย จะได้ไม่ถูกมองเรื่องการสืบทอดอำนาจ
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. กลุ่ม ส.ว.อิสระ จะประชุมกันที่รัฐสภา เพื่อหารือกันถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะมีข้อสรุปท่ีชัดเจนออกมาว่า กลุ่มจะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญในแนวทางใด ส่วนที่ ส.ว.คนอื่นๆ มีความคิดเห็นแตกแยกกันไปหลายทางนั้น ไม่ถือเป็นความแตกแยก แต่ละคนมีความคิดแนวทางของตัวเอง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ส.ว.ทุกคนจะเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมด ส่วนตัวไม่ขัดข้องเลยถ้าจะแก้มาตรา 272 ริบอำนาจ ส.ว.เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะมองว่า ไม่มีความจำเป็นแล้ว รวมถึงมาตราอื่นก็พร้อมสนับสนุนให้แก้ไข เช่น การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2ใบ การคำนวณระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ยกเว้นรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตที่ไม่ควรแตะต้อง
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะพูดว่า ส.ว.จะสนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร.ในการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะต้องรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ว่า มีการเสนอเพิ่มเติมมาอีกหรือไม่ นอกเหนือจากร่างของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เท่าที่ดูเห็นว่า อาจจะมีร่างขอแก้ไขเป็นรายมาตราเข้าไปดู ต้องขอดูให้ครบทุกร่างก่อน เท่าที่คุยกับ ส.ว.ขณะนี้ ยังเสียงแตกมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร.และไม่ตั้ง ส.ส.ร. อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว เชื่อว่า วุฒิสภาคงให้เป็นเอกสิทธิ์ของส.ว.แต่ละคน ในการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 24 ก.ย.นี้ ว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกหรือไม่ ทั้งนี้ประเด็นเรื่องการแก้ไขมาตรา 272 เรื่อง การตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว.ไม่ขัดข้อง ทุกคนพร้อมลดอำนาจตัวเองลงมา เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมาเพิ่ง ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ถ้าแก้ไขเพียงแค่ลดอำนาจเรื่องการโหวตนายกฯ ส.ว.ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าจะไปถึงขั้นตัด ส.ว.ออกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือปิดสวิตช์ ส.ว.ทั้งระบบ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญเดินต่อไม่ได้ ดูแล้วคงเป็นแค่คำพูดโก้ๆ