“ลุงไพศาล” สวนกระแส “ส.ว.” ไม่เชื่อ “ปิดสวิตช์ตัวเอง” ที่เคลื่อนไหว “กลซื้อเวลา” ฟันธง “ขรัว” เขาวางหมากกลไว้แล้ว “ตู่-จตุพร” วิเคราะห์ ถ้าสถานการณ์การชุมนุมของ “ม็อบปลดแอก” 19 กันยาฯ ที่ธรรมศาสตร์ สุกงอม เสี่ยง “ยึดอำนาจ”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (6 ก.ย. 63) นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็น กรณีมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายรายออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ตัดอำนาจไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า
“นกรู้ ส.ว.ปรับท่าทีกันแล้ว สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญและพร้อมปิดสวิตช์ คือ ไม่มีสิทธิ์โหวตนายกฯ!!!
คอยดูหมูจะเข้าเล้าไหม?
บอกให้ก็ได้ว่า นี่คือ “กลซื้อเวลา”
ขรัวเขาวางหมากกลไว้ แก้ไม่ได้หรอกท่านทั้งหลาย!!!”
ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวล่าสุด (6 ก.ย.) ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน มีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น
พบว่า ขณะนี้ ส.ว.ยังเสียงแตกทางความคิดเห็นมีท้ั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้ตั้งและไม่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ว.มีการตั้งกลุ่ม ส.ว. 60 กว่าคนใช้ชื่อว่า “กลุ่ม ส.ว.อิสระ” ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ไม่มีทหาร ตำรวจ มีการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวทางของกลุ่มเห็นตรงกันว่า สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพร้อมให้แก้ไข มาตรา 272 เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ส.ว. ยอมรับว่า ตนอยู่ในกลุ่ม ส.ว.อิสระ เป็นกลุ่มที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ แนวทางของกลุ่มมีความชัดเจนสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรแก้ไขแบบรายมาตรา ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะมองว่า ส.ส.ร.ที่มาจาการเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่เป็นเงา ส.ส. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งไม่จบ และไม่สบายใจว่า ส.ส.ร.จะยกร่างรัฐธรรมนูญเลยเถิดไปขนาดไหน กลุ่ม ส.ว.อิสระพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรทำเป็นแบบรายมาตรา เพราะจะไม่สร้างความขัดแย้ง และประหยัดงบประมาณ
นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ขัดข้อง เพราะแต่ละคนเห็นตรงกันว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯแล้ว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เอง เพื่อพิสูจน์บารมี จะได้มีความสง่างาม ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.มาช่วย จะได้ไม่ถูกมองเรื่องการสืบทอดอำนาจ
นายกิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. กลุ่ม ส.ว.อิสระ จะประชุมกันที่รัฐสภา เพื่อหารือกันถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาว่า กลุ่มจะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญในแนวทางใด ส่วนที่ ส.ว.คนอื่นๆ มีความคิดเห็นแตกแยกกันไปหลายทางนั้น ไม่ถือเป็นความแตกแยก แต่ละคนมีความคิดแนวทางของตัวเอง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ส.ว.ทุกคนจะเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมด
ส่วนตัวไม่ขัดข้องเลยถ้าจะแก้มาตรา 272 ริบอำนาจ ส.ว.เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี รวมถึงมาตราอื่นก็พร้อมสนับสนุนให้แก้ไข เช่น การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การคำนวณระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ยกเว้นรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตที่ไม่ควรแตะต้อง
น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวีแห่งใหม่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ “ตู่-จตุพร” ประธาน นปช. กล่าวตอนหนึ่งในการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ว่า
“สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ จริงๆ แล้วตนอยากบอกว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังคงมีประเด็นออกไป 2 แนวทาง คือจะแก้ไขในส่วนของมาตรา 256 ยกเว้นหมวดที่ 1-2 หรือจะแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขมาตรา 256 นั้น เหมือนเป็นการสับคัตเอาต์ แต่เนื่องจากบทเรียนตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปี 2550 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทั้งฉบับ ดังนั้น เพื่อจะได้มีภูมิต้านทานและลดการต่อต้านด้วยประการใดๆ ทั้งปวง หรืออาจแปรเจตนาไปในทางที่ผิดก็ยกเว้นหมวด 1 และ 2 เอาไว้
นายจตุพร กล่าวว่า มาตรา 256 เป็นมาตราเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา 255 เป็นข้อห้ามที่เกี่ยวข้องจะเปลี่ยนแปลงประเทศ หรือระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะกระทำไม่ได้ แต่ที่เหลือนั้นต้องยึดอำนาจคืนมาจาก สมาชิกรัฐสภา จึงหมายความว่า มาตรา 256 ให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.เกินครึ่งและถูกออกแบบให้ยากขึ้น เพราะว่า ที่เกินครึ่งนั้นจะต้อง มีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 คือ 84 คน ดังนั้น ต้องยอมรับว่า หนทางยาวมาก
ส่วนมาตรา 272 นั้น เพื่อเป็นการตัดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนที่เสนอแนวทางนี้ ประเมินว่า จะมีสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ ก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ โดยตนได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า
หากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ทั้งมาตรา 256 และมาตรา 272 จะไม่ได้แก้ไขแม้แต่มาตราเดียว เพราะสุดท้ายรัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกฉีกตามเจตนา เนื่องจากมีการเขียนเงื่อนไขมากมายอยู่ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไข เพื่อให้แก้ไขได้ยาก ได้พูดมาตั้งแต่ตอนต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้เพื่อให้แก้ไขได้ แต่เป็นการเขียนไว้เพื่อส่งไม้ให้กับคณะรัฐประหารชุดใหม่
“ในฐานะที่อยู่ในวงการเมืองมานาน ติดตามสถานการณ์ หากสถานการณ์สุกงอมในวันที่ 19 กันยายนนี้ เชื่อว่า ทั้งสองมาตรา จะไม่ได้รับการแก้ไข ผมไม่ได้หวงมาตรา 272 เรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะหากแก้ไขมาตรา 256 ก็เท่ากับทุบคัตเอาต์ทิ้ง แต่หมายความว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะไปทุบคัตเอาต์ทิ้งหรือจะปิดสวิตช์ ท้ายที่สุดคนจะมาพังหม้อแปลงขนาดใหญ่เสียก่อน ก็คือ การยึดอำนาจ และการยึดอำนาจในคราวนี้ คณะที่เตรียมการนั้นรออย่างใจจดใจจ่อ
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนต่างๆ นั้น ก็ต้องหาเหตุผลรองรับ เพราะในโลกสื่อสารไร้พรมแดนนั้น จะไม่ง่ายเหมือนในอดีตเนื่องจากทุกคนเป็นเจ้าของสื่อ หากยังไม่สามารถควบคุมการสื่อสารได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้นจะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับประเทศตุรกี ใช้ Facebook จัดการกับคณะรัฐประหารได้อย่างราบคาบ
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลือกในการทำรัฐประหารในประเทศไทยนั้น ไม่เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการไปปิดสื่อแม้กระทั่งการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีก เพราะประชาชนมีโซเชียลมีเดียไว้ต้านคณะรัฐประหาร และสถานการณ์ขณะนี้ก็ถือว่าเปราะบาง เนื่องจากทุกอย่างเริ่มถึงทางตัน และหากโควิด 19 ระบาดอีกครั้งประเทศไทยก็จะยากในการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ”
นายจตุพร กล่าวว่า หลังจากนี้ ทุกอย่างตนยังเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชนิดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะไม่มีฝ่ายใดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้แม้แต่ฝ่ายเดียว และนี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ที่แต่ละฝ่ายต้องคิดว่า ทั้งกระดานนี้ไม่มีใครเบ็ดเสร็จได้ เพียงแต่ใครจะมีความชอบธรรมมากกว่าใคร
อย่างไรก็ตาม วันนี้จะมีการขับเคลื่อนอะไรก็ตาม ซึ่งแต่ละฝ่ายก็คิดและรอวันที่ 19 กันยายนนี้ว่า จะลงมือก่อนวันที่ 19 หรือวันที่ 19 หรืออาจจะหลังวันที่ 19 แต่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญจะไม่ได้แก้แม้แต่เพียงมาตราเดียว และลงท้ายด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเช่นเดิม
แน่นอน, ทั้งประเด็นของ “ลุงไพศาล” และ “จตุพร” ถือว่า ยังมีความเป็นไปได้ ตราบใดที่เหตุการณ์ยังมาไม่ถึง และยังไม่แน่ว่า เบื้องลึก เบื้องหลังมี “เกม” อะไร ของใคร วางเอาไว้บ้าง
แต่ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ก็คือ เวลานี้ดูเหมือนเกมการเมือง ไม่มีใครกลัวใคร และก้มหัวให้ใครแล้ว โดยเฉพาะประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” และ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” สืบทอดอำนาจเผด็จการ อย่างที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า พูดถึงมาตลอด
เหนืออื่นใด “ปิยบุตร” ปลุกเร้าเอาไว้แล้วหลายครั้งว่า ความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อยู่ที่รัฐสภา เพราะไม่เชื่อว่ารัฐสภาจะเอาด้วยอย่างถึงที่สุด หากแต่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้อย่างแท้จริง อยู่ที่การชุมนุมกดดันของ “ม็อบคณะประชาชนปลดแอก” นอกสภานั่นเอง และเชื่อมั่นว่า จะจบที่รุ่นพวกเขาให้ได้
ทั้งหมด คือ เกมอันตราย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ส่วนจะออกหัวออกก้อย อย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป