วุฒิสภา เสียงแตกแบ่งความเห็น 3 ฝ่าย แก้ ม.256 อดีต ขรก.- สนช.ยังสงวนท่าที ก๊วน “คำนูณ-วันชัย-ส.ว.อีสาน” ออกตัวหนุน กลุ่มอิสระมาใหม่ แนะแก้รายมาตรา เมิน ส.ส.ร. หวั่นได้เงา ส.ส.ทำขัดแย้งไม่จบ “เสรี” เชื่อลงมติไม่ไปทางเดียวกัน รบ.ไม่จุ้น
วันนี้ (7 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 เพื่อให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ว่า ขณะนี้ ส.ว.250 คน ยังคงเสียงแตก มีความเห็นไม่ตรงกันว่า จะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านหรือไม่ โดยแบ่งความเห็นเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่สงวนท่าทีขอรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ค่อยตัดสินใจ เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีอยู่ประมาณ 100 กว่าคน ที่ยังไม่ตัดสินใจอะไรชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2. กลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่มีอยู่ประมาณ 20-30 คน มีจุดยืนชัดเจนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร. หรือการแก้ไขเป็นรายมาตรา เพื่อลดความขัดแย้งในประเทศ อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน รวมถึง ส.ว.แถบภาคอีสาน ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ รับรู้ถึงความต้องการของชาวบ้าน พร้อมสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ 3. กลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน ที่ถึงแม้จะแสดงเจตนาพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการแก้เฉพาะรายมาตราเท่านั้น ไม่เอาการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ว.กลุ่มนี้จะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่ ดังนั้น ความชัดเจนของ ส.ว.ทั้ง 250 คน คงต้องรอการส่งสัญญาณสุดท้ายมาจากฝั่งรัฐบาลว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร
นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ส.ว. กล่าวถึงการรวมตัวของ ส.ว. กลุ่มอิสระ 60 คน เพื่อแสดงจุดยืนการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้มีส.ว.ที่เห็นด้วยเข้ากลุ่มเกิน 60 คนแล้ว แต่ ส.ว.ที่เข้าร่วมกลุ่มยังมีความเห็นที่ไม่ตกผลึกร่วมกัน มีถอนตัวไปแล้ว 1 คน กลุ่มที่รวมตัวนั้นส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และมี ส.ว.ที่เป็นอดีตข้าราชการทหาร 1-2 คนเท่านั้น โดยในวันที่ 8 ก.ย. ส.ว.กลุ่มอิสระจะหารือกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวคิดเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง ให้มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะที่ผ่านมา มี ส.ส.ร.มาแล้วหลายชุด หากยังเลือกตั้ง ส.ส.ร. เท่ากับว่าจะได้ตัวแทนนักการเมือง เมื่อได้เงา ส.ส.ยกร่าง เชื่อว่า ความขัดแย้งไม่จบสิ้น และจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกับอีกกลุ่ม ในเรื่องการแก้ไขมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐนตรีนั้น ส.ว. หารือกัน ไม่มีปัญหาที่จะตัดอำนาจส่วนนี้
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกรณีการตั้งกลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน โดยพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ทราบว่า มีการตั้งกลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน จริง โดยมีแนวคิดอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็น แต่ในกลุ่มยังมีความเห็นแตกต่างถึงประเด็นที่จะแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของ ส.ว.250 คนขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจน จะตัดสินใจไปแนวทางใด หลายคนขอรอฟังเหตุผลให้รอบด้านก่อน เพราะขณะนี้ไม่ใช่มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเท่านั้น แต่อาจมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ฝ่ายต่างๆจะเสนอเข้ามาเพิ่มเติมอีก ส.ว.จึงต้องขอพิจารณา ใช้เหตุผล ฟังความให้รอบด้าน ไม่ใช่ตั้งธงไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่า ที่ประชุมวุฒิสภาคงให้ ส.ว.ทุกคนฟรีโหวตลงมติจะรับร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระแรก ในวันที่ 24 ก.ย.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลยื่นมาด้วย จะเป็นตัวกดดันให้ ส.ว.ต้องลงมติรับร่างวาระแรกหรือไม่ นายเสรี ตอบว่า คิดว่า ส.ว.คงไม่ได้ลงมติไปทางเดียวกันทั้งหมด ความเห็นของ ส.ว.แต่ละคนไม่ได้ยึดโยงกับร่างของพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า รัฐบาลคงไม่ส่งสัญญาณอะไรมาให้ ส.ว.ในการลงมติ เพราะเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ ส.ว.