“ส.ว.คำนูณ” ชำแหละ 5 จุดต่างสำคัญร่าง ส.ส.ร.ฉบับพรรคร่วม เทียบ พท. ทั้งเรื่องเสียงรัฐสภา ประชามติ จำนวน ส.ส.ร.ให้ นศ.ร่วม ระยะเวลาร่างต่างกันที่ของพรรคร่วมใช้เกือบ 2 ปี สรุปต้องใช้งบกว่า 1.4 หมื่นล้าน ชี้ยิ่งมีมากร่างฯ ยิ่งพบทางออก
วันนี้ (28 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn ในหัวข้อเรื่อง เปิด 5 จุดต่างสำคัญ ร่าง ส.ส.ร.ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล องค์ประกอบ ‘150-20-20-10’ ให้นักศึกษาเข้าร่วม โดยมีเนื้อหาระบุว่า ทราบว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 1 กันยายน หลังจากพรรคเพื่อไทยได้ยื่นไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เท่าที่ฟังสดับตรับฟังจากคำแถลงของวิปพรรคร่วมรัฐบาล และได้อ่านผ่านตาต้นร่างฯ ฉบับอัปเดตล่าสุด ณ วันที่ 27 สิงหาคม มีข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้
“จุดเหมือนคือ ร่างฯ ที่กำลังจะยื่นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน ไม่ใช่การแก้รายประเด็นรายมาตรา
และทั้ง 2 ร่างต่างก็แก้ไข 2 ประเด็นเช่นกัน คือ เนื้อความในมาตรา 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไปทำได้ง่ายขึ้น และการเพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
เงื่อนไขสำคัญคือ ห้ามยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย เป็นจุดเหมือนกันของทั้ง 2 ร่าง
จุดเหมือนทั่วไปอื่นๆ ก็เช่นการให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง และให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์กรต่างๆ ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมทั้งถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ให้เริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีก
แต่มีจุดแตกต่างพอสรุปได้ดังนี้ ประการที่ 1 การแก้ไขเนื้อความในมาตรา 256 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
- ร่างฯ พรรคร่วมรัฐบาลให้ใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภาเป็นเกณฑ์ ไม่ต้องมีเงื่อนไขต้องได้เสียงของ ส.ว.1 ใน 3 ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 และเสียงของส.ส.พรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 ในวาระที่ 3 / แตกต่างกับร่างฯของพรรคเพื่อไทยที่กำหนดให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเป็นเกณฑ์เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
- ยังคงเงื่อนไขให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นสำคัญต้องไปทำประชามติหลังจากผ่านมติเห็นชอบโดยรัฐสภาตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว / แตกต่างจากร่างฯของพรรคเพื่อไทยที่ปลดเงื่อนไขการทำประชามติออกไปเลย
ประการที่ 2 องค์ประกอบของ ส.ส.ร. 150-20-20-10
- กำหนดให้มี ส.ส.ร. 200 คนเหมือนกัน
- จุดต่างคือร่างฯ พรรคร่วมรัฐบาลให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 150 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนแต่ละคนมีสิทธิเลือกได้เพียง 1 คน คือนำเอานวัตกรรมการเลือกตั้ง ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาประยุกต์ใช้เช่นเดียวกับร่างฯของพรรคเพื่อไทย แต่ลดจำนวนสมาชิกส่วนนี้เหลือเพียง 150 คน
- ส.ส.ร.อีก 20 คนมาจากการคัดเลือกโดยสมาชิกรัฐสภาตามสัดส่วนที่นั่ง
- ส.ส.ร.อีก 20 คนมาจากนักวิชาการสาขาต่าง ๆ โดยให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยดำเนินการคัดเลือก
- ส.ส.ร.10 คนสุดท้ายมาจากตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาโดยให้ก.ก.ต.ดำเนินการคัดเลือก
ประการที่ 3 ระยะเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- กำหนดให้แล้วเสร็จภายภายใน 240 วันนับแต่วันประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก ทั้งนี้ ส.ส.ร.ต้องจัดประชุมครั้งแรกภายใน 30 วันนับจากวันประกาศการเลือกตั้ง ส.ส.ร. / แตกต่างกับร่างฯของพรรคเพื่อไทยที่กำหนดไว้ 120 วัน
ประการที่ 4 เงื่อนไขในการอนุมัติใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วให้ส่งมาให้รัฐสภาลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ทั้งฉบับ โดยจะแก้ไขรายละเอียดมิได้ มติรับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ / แตกต่างจากร่างฯ ของพรรคเพื่อไทยที่ตัดบทบาทของรัฐสภาออกไป ให้นำไปทำประชามติเลยทันที
ประการที่ 5 เงื่อนไขการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปทำประชามติ
- หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อ 4 จึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติอีกครั้งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งไปแล้ว ไม่ต้องนำไปทำประชามติ / แตกต่างจากร่างฯของพรรคเพื่อไทยที่ให้นำไปทำประชามติทันทีไม่ต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา
ต้องเข้าใจตรงกันก่อนอีกครั้งตรงนี้ว่า จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ครบถ้วน คือนอกจากจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ยังจะต้องเป็นเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 และต้องมีเสียงของส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในวาระที่ 3 และที่สำคัญที่สุด เมื่อผ่านรัฐสภาตามเงื่อนไขข้างต้นแล้วยังต้องนำไปทำประชามติก่อน
สรุปเป็นเบื้องต้นว่าการจะไปถึงรัฐธรรมนูญใหม่ได้ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมรัฐบาลฉบับนี้นี้ อย่างน้อย....
- ต้องผ่านการลงประชามติ 1 - 2 ครั้ง
- ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.150 คนโดยตรง 1 ครั้ง
และถ้ารวมกับข้อเสนอที่ว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วให้มีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ตามกติกาใหม่ ก็ต้องเพิ่มลงไปอีกข้อ...
- ยุบสภา/เลือกตั้ง ส.ส.ชุดใหม่
ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินให้ กกต.รวมเฉพาะกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาท แล้วแต่ว่าจะต้องมีการลงประชามติในขั้นสุดท้ายหรือไม่ ซึ่ง ณ ขณะนี้คาดการณ์ไม่ได้ แต่ถ้านับการยุบสภา/เลือกตั้ง ส.ส.ใหม่เข้าไปด้วยก็เป็นประมาณ 14,000 ล้านบาท
ไม่สามารถเปรียบเทียบกับร่างฯ ของพรรคเพื่อไทยได้ชัดเจนก็ตรงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะต้องมีประชามติในขั้นตอนสุดท้ายหรือไม่นี่แหละ แต่ก็ถือได้ว่าใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ ระยะเวลาของโรดแม้ปไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเป็นไปตามร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลถ้าไม่นับการยุบสถาเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นอย่างน้อยที่สุดเร็วที่สุดก็ 16 เดือน และอาจจะถึง 19-20 เดือน โดยแยกเป็น...
- ระยะเวลาในการกระบวนการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งรวมการจัดประชามติด้วย อย่างเร็วที่สุดไม่น่าจะต่ำกว่า 5 เดือน
- ต่อด้วยระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อีก 3 เดือน
- สุดท้ายคือระยะเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของ ส.ส.ร. ไม่รวมการประชามติในกรณีที่รัฐสภาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง อีก 8 เดือน
- แต่ถ้าต้องไปประชามติ ก็บวกเข้าไปอีก 3 เดือน
โดยถ้านับรวมเวลายุบสภาเลือก ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยก็บวกเข้าไปอีก 3 เดือน สรุปรวมแล้วใช้เวลาสูงสุดเกือบ 2 ปีเต็ม ใช้เวลานานกว่าร่างฯของพรรคเพื่อไทย
วันนี้ หากจะถามความเห็นในเบื้องต้นก็ต้องบอกว่าเมื่อเห็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมากร่างขึ้นก็จะพบทางออกมากขึ้น เพราะมีทางเลือกมากขึ้น สุดท้ายบทสรุปจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดร่วมกันของทุกฝ่ายในระหว่างนี้
จากนี้ไปก็ต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะเป็นไปตามนี้จริงหรือไม่ หรือหลังจากวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ยังจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก และต้องรอดูด้วยว่ายังจะมีร่างฯ ฉบับอื่นของพรรคการเมืองใดหรือร่างฯของประชาชนตามมาเป็นร่างที่ 3 หรือ 4 อีกหรือไม่”
เปิด 5 จุดต่างสำคัญ
ร่างส.ส.ร.ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล
องค์ประกอบ ‘150-20-20-10’...โพสต์โดย Kamnoon Sidhisamarn เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2020