เมืองไทย 360 องศา
ก็ต้องถือว่ามาแรงไม่น้อยสำหรับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 272 ที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังจากก่อนหน้านี้ แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับโดยไม่แตะต้องในหมวดที่ 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยแนวทางแก้ไขอย่างหลังมีความเห็นตรงกัน ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเว้นพรรคก้าวไกล) และพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ที่มีการเสนอเป็นญัตติด่วนขอแก้ไขเข้าสู่สภาแล้ว
โดยมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23-24 กันยายน เพื่อพิจารณาร่างญัตติด่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ในวาระที่ 1 คือ ชั้นรับหลักการ
ก่อนหน้านี้ แนวทางสำหรับการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูนำไปสู่การมี ส.ส.ร.สำหรับมาร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยฉบับประชาชน ดูจะได้รับการขานรับจนอาจเรียกว่า “ตกผลึก” ทางความคิดไปแล้ว เนื่องจากมีความเห็นที่สอดคล้องกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าจะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เช่น จำนวน ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งจะมีกี่คน รวมไปถึงสัดส่วนในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะมาจากไหนบ้าง และจำนวนเท่าใด เป็นต้น แต่เนื้อหาหลักๆ ก็ตรงกัน ทำให้เชื่อว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ล่าสุด กลับเริ่มมีอีกแนวทางหนึ่งที่กำลังมาแรงจนน่าจับตา ก็คือ การแก้ไขรายมาตราที่คิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เท่าที่เห็นในตอนนี้ ก็คือ แนวคิดในการ “แก้ไขมาตรา 272” ในประเด็นที่ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ส.ว.หลายคนเริ่มออกมาสนับสนุนอย่างชัดเจนแล้วว่า สนับสนุนแนวทางนี้ รวมไปถึงการแก้ไขให้มีการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และมีการคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบเดิมเพื่อป้องกันความสับสน โดยกลุ่ม ส.ว.ที่สนับสนุนแนวทางแบบนี้ อ้างว่า การแก้ไขแบบรายมาตราสามารถทำได้รวดเร็วกว่า รวมไปถึงการประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่าเลือกตั้งสมาชิก ส.ส.ร. ก็ไม่ใช่เป็นอิสระจริง แต่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ ส.ส.และพรรคการเมืองอยู่ดี เป็นต้น
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาทำความเข้าใจกันก่อน ก็คือ การแก้ไขมาตรา 272 ดังกล่าวในเรื่องการริบอำนาจการโหวตเลือก นายกรัฐมนตรีนั้น อาจมีความหมายว่า “ปิดสวิตช์ ส.ว.” แต่ไม่ใช่ในความหมายที่จะแก้ไขไม่ให้มี ส.ว. เนื่องจากเห็นว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้วยังแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแก้ไขในมาตราใด ก็ต้องได้รับความร่วมมือจาก ส.ว.โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุนในที่นี้ ต้องไม่ต่ำกว่า 84 เสียงนั่นเอง
ที่ว่าน่าจับตาก็คือ เวลานี้มีรายงานระบุว่า มีการตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่ม ส.ว.อิสระ” อ้างว่า มีจำนวนประมาณ 60 คนแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็น ส.ว.ที่เป็นพลเรือน และเห็นว่าควรจะแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยหากเห็นว่ามีมาตราไหนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ให้เสนอมา รวมไปถึงการตัดทิ้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นแล้ว อีกทั้งอำนาจดังกล่าวก็เป็นบทเฉพาะกาล 5 ปี ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านยังเหลืออีก 2 ปี ซึ่งสถานการณ์ได้ผ่านไปแล้ว
จากการเปิดเผยของ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ซึ่งอยู่ในกลุ่ม ส.ว.อิสระดังกล่าว ระบุว่า จะมีการประชุมกันเพื่อกำหนดท่าทีและสรุปความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 กันยายนนี้ ที่รัฐสภา
แม้ว่านาทีนี้เมื่อพิจารณาจากรอบด้านแล้วยังถือว่า ยังไม่มีแนวทางใดที่ “ตกผลึก” ที่ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าจะออกในทางไหนมากกว่ากันระหว่างการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร. มายกร่างใหม่ กับแนวทางการแก้ไขรายมาตรา ที่เห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การลดอำนาจ ส.ว.ในเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ โดยให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯ การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตร 2 ใบ และการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามแบบเดิม เป็นต้น ซึ่งวิธีหลังนี้ก็ถือว่ามาแรง เพราะเป็นไปได้ และใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณลงได้จำนวนมาก ซึ่งในแนวทางหลังนี้ ล่าสุด ทางพรรคเพื่อไทย ก็เตรียมที่จะเสนอขอแก้ไขแบบรายมาตรา เข้ามาเพิ่มเติมอีกสองสามฉบับในเร็วๆ นี้อีกด้วย
แม้ว่ายังไม่อาจคาดเดาได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปในทิศทางไหน จะสำเร็จหรือไม่ เพราะมีองค์ประกอบที่สำคัญที่ปฏิเสธความจริงไม่ได้ ก็คือ หากต้องแก้ไขในสภาแล้วตามขั้นตอนก็ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง ถึงจะสำเร็จ ดังนั้น หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ มันก็น่าจับตาเหมือนกันว่าการแก้ไขแบบรายมาตรา ถือว่า “มาแรง” และเป็นไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนจะถูกใจพวก “ม็อบป่วน” ข้างนอกหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง !!