“ส.ว.จเด็จ” แจงกลุ่ม 60 ส.ว.ออกตัวแก้ปัญหา หวั่นวุ่นแบบฮ่องกงโมเดล มอง รธน.ไร้ปัญหา จะแก้ ส.ส.ต้องชี้ให้เห็นไม่ปิดตาย เมินตั้ง ส.ส.ร. ดักมีวาระซ่อนเร้น อย่าหลงใหลทำร้ายสถาบันฯ ขุดเหง้าวัฒนธรรม ย้อนเด็กๆ ไม่คิดว่าถูกสื่อ ตปท.แทรกแซง
วันนี้ (8 ก.ย.) นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา แถลงถึงท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม 60 ส.ว.ว่า เหตุผลที่กลุ่ม 60 ส.ว.ออกมาแสดงท่าทีเพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.ที่จะเห็นตรงกันหรือเห็นต่างกันบ้างซึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุมของการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และปัญหาความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ ทำให้ ส.ว.ได้หารือกันเห็นว่า เพื่อหาข้อสรุปว่าหากไม่แก้จะเกิดความวุ่นวายแบบฮ่องกงโมเดล แต่ก็ต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี เป็นเพราะรัฐธรรมนูญไม่ดีจริงหรือไม่ ดังนั้น ต้องมาดูว่ารัฐธรรมนูญมาตราใดมีปัญหากันแน่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น ที่ไม่พอใจนายกรัฐมนตรีก็เลยจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้รัฐธรรมนูญยังมีเงื่อนไขตามมาตรา 256 ที่มี ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมโหวตด้วย และหากจะแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ นั้นก็ต้องไปแก้ที่มาตรา 256 ก่อนเพราะสัมพันธ์กัน
นายจเด็จยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอะไรจึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมาตราใด แต่หากจะแก้ไข ส.ส.ต้องแสดงให้เห็นว่ามาตราใดทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ยืนยันว่า ส.ว.ไม่ได้ปิดตายว่าต้องไม่แก้ แต่การเมืองมีวาระซ่อนเร้น ดังนั้น ก็ขอให้ชี้แจงมาว่า มาตราใดมีปัญหา อย่างมาตรา 272 ก็กำหนดชัดเจนแล้วว่าในวาระ 5 ปีเริ่มแรก เวลานี้ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว รออีกไม่นาน ขอให้ใจเย็นๆ ส.ว.พร้อมอยู่ข้างประชาชน อย่าหลงใหลกับการทำร้ายสถาบันฯ หรือขุดเหง้าวัฒนธรรมอันดีงามด้วยการก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย
“ทำไมเด็กๆ เหล่านี้ไม่คิดว่าถูกแทรกแซงจากสื่อต่างชาติ พี่น้องประชาชนกรุณาคิดด้วยความเป็นธรรม ต้องอยู่ด้วยเหตุผล บ้านเมืองถึงอยู่รอดได้ ยอมรับว่าห่วงการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น แต่ยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภาจะรักษาแผ่นดินนี้”
นายจเด็จกล่าวว่า ในการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 24 ก.ย.ก็เป็นไปได้ที่ ส.ว.จะไม่เห็นชอบกับหลักการดังกล่าว แต่ต้องรอฟังการอภิปรายเหตุผลของ ส.ส.ก่อน หากมีเหตุผลที่เข้าใจได้ก็อาจจะโหวตรับหลักการ ยืนยันว่าไม่ได้ปิดตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมาตราใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ก็ขอให้บอกมา ส.ว.ก็พร้อมที่จะแก้ไข แต่ย้ำว่าต้องไม่ใช่การยกร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. ทั้งนี้ ยอมรับว่ามี ส.ว.บางกลุ่มที่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. แต่ไม่ได้มีจำนวนที่มากนักซึ่งก็เป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว
“กลุ่ม ส.ว.ที่เป็นทหารมีอยู่ประมาณ 120 คน วางตัวและเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นั่งมองอยู่ และสงวนความเห็น แต่ผมก็ไม่กล้าคิดแทนท่านว่าที่สุดแล้วท่านจะคิดอย่างไร”