เมืองไทย 360 องศา
เริ่มสนุกเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ สำหรับ “เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งพรรคฝ่ายค้าน และรัฐบาล ที่นาทีนี้เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากกว่าเดิมแล้ว
ล่าสุด มีการเสนอญัตติด่วน ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ส.ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าวจำนวน 99 คน ตามข่าวระบุว่า มาจาก 13 พรรคการเมือง
ที่น่าสนใจก็คือ มาจากพรรคก้าวไกล 54 คน นั่นคือ ลงชื่อกันทั้งพรรค จากพรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ซึ่งก็เป็น ส.ส.กลุ่มสาย “อำนาจเก่า” ที่เชื่อมโยงกับ
กลุ่มของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีบทบาทในการบริหารพรรคในปัจจุบัน ที่มี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเทพไท เสนพงศ์ นายอันวาร์ สาและ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ เป็นต้น ที่เหลือก็เป็น ส.ส.ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลบ้างประปราย เช่น จากพรรคภูมิใจไทย 1 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน
แต่ที่น่าจับตาก็คือ งานนี้ไม่มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ร่วมลงชื่อแม้แต่คนเดียว ซึ่งหากมองในมุมแบบนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ แต่หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ มันก็หาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะถือว่าทั้งสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ต่างก็ “ขบเหลี่ยม” และ “ทับเส้น” กันมาตลอด โดยเฉพาะกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวนอกสภาของ “ม็อบปลดแอก” ในเวลานี้
เรื่องแรกก่อนกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ได้เปิดศึกโจมตีกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกัน โดยพรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั่นคือ ให้แก้ไขทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นว่าฝ่ายที่เห็นในแนวทางดังกล่าวนี้ กลับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอญัตติแก้ไขตามมาภายหลัง
ครั้งนี้แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จจริงจัง ส่วนสำคัญเป็นเพราะตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมโจมตีว่า “ชอบพูดเอาหล่อ” ในความหมาย “เอาความดีเข้าตัวเอาชั่วโยนให้คนอื่น” อะไรประมาณนั้น พร้อมทั้งกล่าวหาพรรคก้าวไกล อีกว่า การที่ประกาศท่าทีที่จะอภิปรายในร่างแก้ไขทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่เว้นแม้แต่หมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในความหมายเหมือนกับเจตนา “ป่วน” ทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จ ซึ่งก็ถือว่าเข้าทางตัวเองที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการชุมนุมนอกสภาในนาม “กลุ่มปลดแอก” นั้น จะว่าไปแล้ว หากมองกันแบบทำความเข้าใจมันก็เหมือนกับเป็นม็อบที่มีพรรคก้าวไกลเป็น “เจ้าของ” เพราะเห็นภาพความเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งกลุ่มแกนนำ “ก้าวหน้า” ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นโต้โผใหญ่ เพราะหากสังเกตจะเห็นว่า ทั้งในเรื่องการประกันตัวบรรดาแกนนำ และการปรากฏตัวในที่ชุมนุมหรือหน้าโรงพัก หน้าเรือนจำ จะเห็นภาพของ ส.ส.พรรคก้าวไกล และแกนนำกลุ่มดังกล่าวปรากฏตัวแทบทุกครั้ง ซึ่งสำหรับ “คอการเมือง” ก็มองออกได้ไม่ยาก จนมีการเรียกร้องในเชิงเหยียดหยามทำนองว่า มัวแต่แอบอยู่หลังเด็ก ทำไมไม่นำหน้าออกมาเอง
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสไปเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ก็ต้องบอกว่า ทั้งสองพรรคไม่เกรงใจกันแล้ว เพราะในร่างญัตติที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล กับกลุ่ม ส.ส.แตกแถวของพรรคประชาธิปัตย์ นั้น ไม่มีชื่อของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านั้น ในวันเดียวกัน (8 กันยายน) นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านของพรรคเพื่อไทย ได้ระบุออกมาว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมที่จะเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราเข้าไปเหมือนกัน โดยเฉพาะแก้ไข มาตรา 272 ที่ให้ตัดอำนาจการโหวตนายกฯ ของ ส.ว.ออกไป โดยเสนอเป็นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งวิธีการเสนอแก้ไข อาจเป็นสองขยัก นั่นคือ แก้ไขมาตรา 272 ก่อน จากนั้นค่อยแก้ไข มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ก็เป็นไปได้ โดยพรรคเพื่อไทย มีจำนวน ส.ส.เพียงพอในการเสนอญัตติได้อยู่แล้ว
หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว สามารถมองให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า สำหรับพรรคเพื่อไทย มีความจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มาก โดยเล็งไปที่การแก้ไขให้สำเร็จ ทั้งการยกร่างใหม่ รวมไปถึงความต้องการที่จะกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเดิม แบบที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ มีการคำนวณคะแนนเลือกตั้งแบบเดิม ซึ่งถือว่าพวกเขาได้เปรียบ หรือ “มีลุ้น” ในการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคก้าวไกลนั้น เชื่อว่า หากกลับไปใช้แบบเดิมอีก คะแนนเลือกตั้งก็จะเทกลับมาที่เดิม คือ พรรคเพื่อไทย นี่คือคำตอบที่กล่าวหาว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีเจตนาแก้ไขจริงจัง แต่มีเป้าหมาย “ป่วน”
ขณะที่ประเด็นการแก้ไข มาตรา 272 ทั้งในเรื่องการลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ นั้น ในทางการเมืองถือว่าเป็น “สัญลักษณ์เผด็จการ” ที่นำมาใช้ในการ “ปลุกม็อบ” ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงหากพิจารณาตามสถานการณ์ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตถือว่า มาตราดังกล่าว “ตกยุค” และไม่มีความจำเป็นแล้ว และในการโหวตที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปก็พบว่าเสียงที่โหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนมาจาก ส.ส.ทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้ ส.ว.มาร่วมโหวตแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็น “บทเฉพาะกาล” 5 ปี และผ่านมา 3 ปีแล้ว ยังเหลืออีกแค่ 2 ปี ก็จบกันแล้ว ถึงไม่แก้ไขก็หมดสภาพไปเองนั่นแหละ
ดังนั้น นาทีนี้ก็ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าทั้งสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทย และ ก้าวไกล ต่างชิงเหลี่ยม ชิงแต้มในเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต่างฝ่ายล้วนหาประโยชน์ในทางการเมืองและฝันถึงเป้าหมายที่ตัวเองซ่อนเอาไว้ !!