xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จับมือก้าวไกล ยื่นชื่อ99ส.ส.แก้มาตรา272-ไม่มี"พท.-พปชร."ร่วมแจม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "พิธา-สาทิตย์" ควงกันนำรายชื่อ 99 ส.ส. จาก13 พรรคการเมือง โดยไม่มีส.ส.จากเพื่อไทย-พลังประชารัฐ เข้าร่วม ยื่นประธานสภาฯ แก้ ม.272ตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ ขณะที่กลุ่ม 60 ส.ว.อิสระ ยอมให้ตัดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ แต่จะถึงขั้นไม่มีส.ว. คงทำไม่ได้ "จเด็จ"ตั้งข้อสังเกต แก้รธน. ครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้น ด้านกลุ่มอดีตประธาน ส.ส.-ส.ว. ปิดห้องถกทางออกประเทศ "วันนอร์ " แนะ"บิ๊กตู่"ลาออก ชี้หมดเวลาแล้ว เตือนจะซ้ำรอย จอมพล ป.-จอมพลถนอม "สุชน" ข้อสรุปกลุ่มให้ยกเลิก ม.272 ก่อนตั้ง ส.ส.ร.

วานนี้ (8ก.ย.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยส.ส.จำนวนหนึ่ง ได้นำรายชื่อส.ส. 99 คน มายื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ว่าด้วยการยกเลิกการให้ส.ว.ร่วมลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี

นายชวน กล่าวว่า หากไม่มีปัญหา จะสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ใน 15 วัน ขณะนี้ได้มีการบรรจุ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีการพิจารณาในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ หากไม่มีปัญหาใดๆจะสามารถพิจารณาได้พร้อมกัน

ด้านนายพิธา กล่าวว่าส.ส.ที่ร่วมลงชื่อมีจำนวน 99 คน มาจาก 13 พรรคการเมือง โดยไม่มีส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐรวมลงชื่อ แต่มี ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ร่วมลงชื่อด้วย เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้รับการพิจารณาใน วันที่ 23-24 ก.ย.นี้ นอกจากนี้ มั่นใจว่าจะไม่มีส.ว.คนใดขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การแก้ไขมาตรานี้ จะเป็นทางออกให้แก่ประเทศ

ขณะที่นายสาทิตย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นพ้องร่วมกันที่จะให้มีการแก้ไขในเรื่องการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เพียงประเด็นเดียว ซึ่งการดำเนินการของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แม้ว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ โดยการแก้ไขมาตรานี้ จะเป็นการยกเลิกการสืบทอดอำนาจ

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากมีการยกเลิก มาตรา 272 จะทำให้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ทางสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้เสนอชื่อและเลือกนายกฯ

เปิดชื่อส.ส.รัฐบาลร่วมแก้ ม. 272


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ 99 ส.ส. จาก 13 พรรรคการมือง ประกอบด้วย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคก้าวไกล 54 คน พรรคประชาชาติ 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน

ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา นางกันตวรรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก

พรรคภูมิใจไทย 1 คน คือนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีษะเกษ พรรคชาติไทยพัฒนา1 คน คือ นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มส.ส.พรรคเล็ก ได้แก่ นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพีระวิทย์ เลื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่ พรรคประชาธิปไตยใหม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ลงชื่อรวม20 คน แต่ภายหลังมีการขอถอนรายชื่อออก 4 คน คือนายวิวรรธ นิลวัชรมณี ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี และ นายภาณุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี

ส.ว.อิสระพร้อมให้แก้ ม.272


นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. แกนนำกลุ่ม 60 ส.ว.อิสระ กล่าวว่า สำหรับ มาตรา 272 เรื่องอำนาจส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนตัวเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว หากยังฝืนคงอำนาจนี้ไว้ บ้านเมืองจะไม่สงบสุข แต่ยังเห็นว่าควรจะมีวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุล ตามรธน.กำหนด

นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น ที่ไม่พอใจนายกฯ ก็เลยจะมาแก้ไขรธน. แต่การแก้รธน.ยังมีเงื่อนไขตาม มาตรา 256 ที่มี ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมโหวตด้วย และหากจะแก้ มาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกฯนั้น ก็ต้องไปแก้มาตรา 256 ก่อน เพราะสัมพันธ์กัน

" ยืนยันว่า ส.ว.ไม่ได้ปิดตาย ต้องไม่แก้ แต่การเมืองมีวาระซ่อนเร้น ดังนั้น ก็ขอให้ชี้แจงมาว่า มาตราใดมีปัญหา อย่างมาตรา 272 ก็กำหนดชัดเจนแล้วว่า ในวาระ 5 ปีเริ่มแรก ซึ่งเวลานี้ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว รออีกไม่นาน ขอให้ใจเย็นๆ และทำไมเด็กๆ เหล่านี้ ไม่คิดว่า ถูกแทรกแซงจากสื่อต่างชาติ ยอมรับว่า ห่วงการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น แต่ยืนยันว่า สมาชิกรัฐสภา จะรักษาแผ่นดินนี้"

นายจเด็จ กล่าวว่า กลุ่มส.ว.ที่เป็นทหาร มีอยู่ประมาณ 120 คน วางตัวและเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต่ผมก็ไม่กล้าคิดแทนท่าน ว่าที่สุดแล้วท่านจะคิดอย่างไร

"วันนอร์"บอก"บิ๊กตู่"หมดเวลาแล้ว


ด้านกลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา , นายนิคม ไวยรัชพานิช , นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นัดประชุมระดมความคิด หาทางออกวิกฤตการเมืองไทย โดยจะมีการหยิบยก ประเด็นการแก้ไข มาตรา 272 รวมถึงข้อเสนอที่ให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ , และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ได้เดินทางมาร่วมการหารือ เนื่องจากติดภารกิจ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า หมดเวลาแล้วสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเห็นด้วยกับข้อเสนอของ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และความขัดแย้ง ดังนั้น นายกฯควรเสียสละ ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งในอดีต ก็มีอดีตนายกฯ ที่เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพ เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีอำนาจพรรคการเมืองสนับสนุน แต่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง สุดท้ายต้องหนีไปต่างประเทศ หรือ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือราวครึ่งชั่วโมง นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ออกมาแถลงข้อสรุปความเห็นของกลุ่ม โดยเสนอว่า ควรเสนอร่างแก้ไข รธน. เพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เกี่ยวกับการให้อำนาจส.ว. เลือกนายกฯ ก่อนที่จะแก้ไข มาตรา 256 เพราะการจัดทำรธน.ใหม่ โดยส.ส.ร. อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต้องการให้มีการแก้ไขรธน. โดยเร็ว โดยเฉพาะการยกเลิก มาตรา 272 หากมี เหตุการณ์ถึงขั้นยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก แล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ควรให้นายกฯ มีที่มาตามรธน. มาตรา 159 โดยให้สภาผู้แทนฯ เป็นผู้ลงมติเลือกนายกฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น