“พิธา-สาทิตย์” ควงกันนำรายชื่อ 99 ส.ส.จาก 13 พรรค ไร้ชื่อ พท.-พปชร. แต่มี ภท.โผล่แจม ยื่นประธานสภาฯ แก้ ม.272 มั่นใจ ส.ว.ไม่ขัดขวาง
วันนี้ (8 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.จำนวนหนึ่ง ได้นำรายชื่อ ส.ส.99 คน มายื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 272 ว่าด้วยการยกเลิกการให้ ส.ว.ร่วมลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี
นายชวนกล่าวว่า ตามขั้นตอนจะต้องมีการตรวจสอบองค์ประกอบของญัตติเพื่อพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย หากไม่มีปัญหาจะสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ใน 15 วัน ขณะนี้ได้มีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีการพิจารณาในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ทั้งนี้คิดว่าหากไม่มีปัญหาใดๆ จะสามารถพิจารณาได้พร้อมกัน
ด้านนายพิธากล่าวว่า ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อมีจำนวน 99 คนมาจาก 13 พรรคการเมืองโดยไม่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐรวมชื่อ แต่มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยร่วมลงชื่อด้วย เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ นอกจากนี้ มั่นใจว่าจะไม่มี ส.ว.คนใดขัดขวางเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การแก้ไขมาตรานี้จะเป็นทางออกให้แก่ประเทศ
ขณะที่นายสาทิตย์กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นพ้องร่วมกันที่จะให้มีการแก้ไขในเรื่องการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เพียงประเด็นเดียว ซึ่งการดำเนินการของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แม้ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ โดยการแก้ไขมาตรานี้จะเป็นการยกเลิกการสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตามพวกเราจะเข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป และคิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าใจการดำเนินการในครั้งนี้เนื่องจากหัวหน้าพรรคเคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากมีการยกเลิกมาตรา 272 จะทำให้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแบบเดิม คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอชื่อและเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพรรคการเมืองที่เสนอต่อคณะกรรมาการเลือกตั้ง และหากสภาผู้แทนราษฎรเลือกไม่ได้ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สภาเลือกนายกฯ คนนอกต่อไป