xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ปธ.สภา-วุฒิฯ หนุนแก้ ม.272 ตั้ง ส.ส.ร. “วันนอร์” จี้นายกฯ ลาออก หวั่นซ้ำรอย 2 จอมพล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ปิดห้องถกทางออกประเทศ “วันนอร์” แนะนายกฯ ลาออก ชี้หมดเวลาแล้ว หวั่นซ้ำรอยจอมพล ป.-จอมพลถนอม “สุชน” เสนอข้อสรุปกลุ่มอดีตประธานสภาฯ แนะเร่งยกเลิกม.272 ก่อนตั้ง ส.ส.ร.

วันนี้ (8 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. กลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช, นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นัดประชุมระดมความคิดหาทางออกวิกฤตการเมืองไทย โดยจะมีการหยิบยกประเด็นการแก้ไขมาตรา 272 รวมถึงข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ได้เดินทางมาร่วมการหารือเนื่องจากติดภารกิจ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า หมดเวลาแล้วสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรเสียสละลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่ควรรอให้สถานการณ์รุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้ ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหมือนกับ พล.อ.เปรม ติณลสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจลาออกซึ่งถือเป็นทางลงที่ดีสามารถอยู่ต่อในสังคมได้โดยไม่มีปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็มีอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพ เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีอำนาจพรรคการเมืองสนับสนุน แต่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง สุดท้ายต้องหนีไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของประชาชน ดังนั้น ขณะนี้ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่งซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งสองด้าน ควรตัดสินใจและเลือกว่าจะเป็นแบบไหน

ส่วนหาก พล.อ.ประยุทธ์ลาออกใครจะมาดำรงตำแหน่งแทนนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ควรให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ ที่มาจากประชาชน ซึ่งสมัยที่ตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พล.อ.ชวลิต ลาออก ก็ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมือง มาหารือและสุดท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มีมติเลือกนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นนายกฯ ต่อมาถึง 3 ปี ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ในประเทศก็ลดลง ความน่าเชื่อถือก็กลับคืนมา ดังนั้น รัฐบาลที่ขาดความเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศก็ควรจะหลีกทางให้

หลังจากการประชุมหารือราวครึ่งชั่วโมง นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ออกมาแถลงข้อสรุปความเห็นของกลุ่ม โดยเสนอว่าควรเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะแก้ไขมาตรา 256 เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากมีเหตุการณ์ถึงขั้นยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออกแล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ควรให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

นายสุชนกล่าวว่า ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกัน และรับฟังข้อเรียกร้องของนักศึกษาและทุกฝ่ายว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ควรมีการพูดคุยกัน ไม่ควรเผชิญหน้ากัน ต้องหาทางร่วมมือให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ในฐานะที่เป็นกลุ่มคณะเล็กๆ ก็ทำได้เพียงการเสนอความเห็นไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยจะเสนอความเห็นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะกลุ่มอดีตประธานสภาฯ และส่งความเห็นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงเป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะแก้ไขวิกฤตตรงนี้ พร้อมย้ำว่ายังไม่สายเกินไปหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น