xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจและความชอบธรรมในฐานะแกนกลางของความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งบอกได้ว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ดูเหมือนความเข้มข้นและขอบเขตของความขัดแย้งจะขยายตัวมากยิ่งกว่าเดิม ศูนย์กลางความขัดแย้งเคลื่อนไหวอยู่ในเรื่องของอำนาจและความชอบธรรม และสถาบันทางการเมืองและสังคมที่ใช้อำนาจรัฐต่างก็เผชิญกับการท้าทายที่แหลมคมยิ่งขึ้น

ปมปัญหาหลักที่เป็นแก่นของความขัดแย้งในช่วงสองทศวรรษนี้คือความชอบธรรมของการได้มาซึ่งอำนาจและความเที่ยงธรรมของการใช้อำนาจรัฐ 

หากมองย้อนกลับไปดูความขัดแย้งใหญ่ที่ปะทุขึ้นมาครั้งแรกระหว่างรัฐบาลทักษิณกับชนชั้นกลางในช่วงปี ๒๕๔๙ ปัญหาหลักที่รัฐบาลทักษิณได้กระทำจนนำไปสู่ความขัดแย้งคือการใช้อำนาจรัฐในทางที่มิชอบและขาดความเที่ยงธรรม ส่วนประเด็นความชอบธรรมของแหล่งที่มาของอำนาจนั้นแม้มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การมีข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง แต่ก็เป็นปัญหารอง

ปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐในทางที่มิชอบและขาดความเที่ยงธรรมมีหลายประการด้วยกัน เช่น การใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอน มีประชาชนที่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดถูกสังหารเสียชีวิตหลายพันคนจากศาลเตี้ยของกลไกอำนาจรัฐ การทุจริตคอรัปชั่นของผู้นำรัฐบาล เครือญาติ และพวกพ้อง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนอย่างใหญ่หลวง การแทรกแซงและใช้องค์กรอิสระ ตลอดจนวุฒิสภาเป็นเครื่องจักรทางการเมืองเพื่อบรรลุเป้าประสงค์

การใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบของรัฐบาลยุคนั้นนำความเสื่อมศรัทธามาสู่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและรัฐสภา และลุกลามไปถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยด้วย เพราะว่าบุคคลและสถาบันการเมืองเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

ชนชั้นกลางภายใต้การนำของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมขับไล่รัฐบาล และเรียกร้องให้นายทักษิณ ชินวัตร วางมือทางการเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้ความขัดแย้งทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ประกอบกับการเมืองในระบบรัฐสภาขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในที่สุดผู้บัญชาการทหารบกในยุคนั้นก็ฉวยโอกาสรัฐประหารยึดอำนาจ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ 
 
ปลายปี ๒๕๕๐ มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคพลังประชาชน (ตั้งขึ้นมาทดแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ) ชนะการเลือกตั้ง เมื่อมาจากการเลือกตั้ง แหล่งที่มาของอำนาจก็ย่อมถูกมองว่ามีความชอบธรรรม พรรคนี้จึงจัดตั้งรัฐบาลและมี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แล้วแบบแผนการบริหารประเทศกลับซ้ำรอยเดิม ปกคลุมไปด้วยการทุจริต ชนชั้นกลางจึงออกมาชุมนุมขับไล่อีกครั้งหนึ่ง และต่อมานายสมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งด้วยข้อหามีการกระทำที่ทำให้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชนจึงให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งแทน แต่อยู่ได้ไม่ถึงสามเดือนก็พ้นตำแหน่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน

รัฐบาลใหม่ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำและมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีได้รับการจัดตั้งขึ้นมา ชนชั้นกลางระดับกลางและระดับบนดูเหมือนมีความพึงพอใจกับรัฐบาลนี้อยู่ไม่น้อย ทว่าชนชั้นกลางระดับล่างในเขตเมืองและชาวบ้านในชนบทภาคเหนือและภาคอิสานที่เป็นฐานเสียงของเครือข่ายนายทักษิณมีความรู้สึกที่แตกต่างออกไป พวกเขาไม่พอใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ และวิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร และมองว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ขาดความชอบธรรมในประเด็นแหล่งที่มาของอำนาจ แม้ว่าได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม 
 
ปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ชาวบ้านฐานมวลชนของเครือข่ายทักษิณภายใต้การนำของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันของนายทักษิณ ชินวัตรออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอภสิทธิ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ถูกสลายและส่งกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม ปีถัดมาช่วงต้นเดือนมีนาคมเครือข่ายทักษิณได้รวบรวมชาวบ้านออกมาชุมนุมอีกครั้งเพื่อกดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา ในการชุมนุมครั้งนั้นความรุนแรงขยายตัว ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในที่สุดผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกสลายด้วยกำลังทหาร รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง และตัดสินใจยุบสภาในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔

การเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้งทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความชอบธรรมระดับหนึ่ง ดังนั้นแม้ว่าชนชั้นกลางไม่พึงพอใจกับการกลับเข้ามามีอำนาจของเครือข่ายทักษิณ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก แต่ว่าเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศไประยะหนึ่ง กลับใช้อำนาจที่มิชอบและขาดความเที่ยงธรรม โดยมีแบบแผนการบริหารประเทศไม่แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณในอดีต รัฐบาลจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นโดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าว ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศนับแสนล้านบาท ยิ่งกว่านั้นยังใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่เครือญาติและพวกพ้องตนเอง จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของชนชั้นกลาง

ชนชั้นกลางในเมืองภายใต้การนำของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และแม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่การประท้วงก็ดำเนินต่อไปจนทำให้ไม่สามารถจัดเลือกตั้งให้สมบูรณ์ได้ ในที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชาและคณะในนาม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ และภายหลังได้มีการเปิดเผยออกมาว่าการรัฐประหารครั้งนั้นได้มีการวางแผนล่วงหน้าหลายเดือน

คณะรัฐประหารได้จับกุมแกนนำมวลชนทุกฝ่าย และนักการเมืองหลายคนเข้าไปกักขัง บางคนถูกกักขังสัปดาห์เดียว แต่บางคนก็หลายเดือนเพื่อปรับทัศนคติ คณะรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลโดยมีหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศ สภานิติบัญญัติ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ระยะแรกคนจำนวนมากพอจะมีความหวังว่าคสช. จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นแก่การเมืองไทย แต่ผ่านไปเพียงแค่สองปี หลายคนก็ตระหนักและเห็นความจริงว่า สิ่งที่ คสช.พูด รวมทั้งสถาบันและกลไกทางการเมืองที่ คสช.สร้างขึ้นมาและโฆษณาว่าเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการสถาปนาอำนาจผูกขาดทางการเมืองแก่ตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก ชนชั้นกลางใม่น้อยเริ่มปฏิเสธอำนาจและความชอบธรรมของ คสช. แต่ก็มีชนชั้นกลางอีกจำนวนหนึ่งที่สูงอายุและมีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมเชิงจารีตยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์อยู่ต่อไป

ในอีกด้านหนึ่งด้วยเหตุที่การได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหาร รัฐบาลประยุทธ์จึงขาดความชอบธรรมในมิติของแหล่งที่มาของอำนาจ เยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งมีอุดมคติแบบประชาธิปไตยไม่ยอมรับรัฐบาลประยุทธ์มาตั้งแต่ต้นและออกมาประท้วงเป็นระยะ หลายคนถูกจับกุมดำเนินคดีและบางคนถูกลอบทำร้าย ต่อมาเมื่อรัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดข้อบัญญัติที่ทำให้สืบทอดอำนาจต่อไปได้อีกประมาณ ๘ ปี ด้วยการกำหนดในบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภาที่ คณะ คสช. แต่งตั้งขึ้นมีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง ๕ ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเสมือนตัวแทนของ คสช. ได้รับเลือกเป็นลำดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย และ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่มีคนรุ่นใหม่เป็นแกนนำได้รับการสนับสนุนจากเยาวชนคนหนุ่มสาวอย่างกว้างขวางและกวาดที่นั่งมาเป็นอันดับ ๓ แต่ด้วยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตีได้ จึงทำให้พรรค พปชร.กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าพลเอกประยุทธ์มักกล่าวว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของตนมาจากการเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่ก็ต้องเผชิญกับการวิจารณ์เรื่องความชอบธรรมเรื่องแหล่งที่มาของอำนาจ อันเนื่องมาจากผู้ลงคะแนนเลือกพลเอกประยุทธ์ ครี่งหนึ่งเป็น ส.ว. ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่โดยพฤตินัยเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของพลเอกประยุทธ์และอดีต แกนนำคสช. นั่นเอง

นอกจากรัฐบาลประยุทธ์มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมในแหล่งที่มาของอำนาจแล้ว ฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของประเทศก็มีปัญหามาโดยตลอด ก่อให้เกิดการตกต่ำและถดถอยของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างน่าตระหนก ประกอบกับองต์กรอิสระอันเป็นเครื่องจักรของเครือข่ายอำนาจของประยุทธ์ได้บดขยี้ทำลายพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกลุ่มแกนนำพรรคจนไม่อาจเข้าถึงอำนาจทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้เป็นเวลาสิบปี

การทำลายพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เยาวชนคนหนุ่มสาววาดหวังเอาไว้ว่าจะเป็นตัวแทนของพวกเขาในระบบรัฐสภา ได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจและคับแค้นใจแก่เยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการใช้อำนาจรัฐในระดับลึกเพิ่มความเข้มข้นแก่สภาวะความเป็นอภิสิทธิ์ชนแก่คนบางกลุ่มในการใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐโดยปราศจากการตรวจสอบ จนทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเห็นว่าการใช้อำนาจรัฐไทยที่ปรากฎออกมามีแนวโน้มมิได้เป็นไปตามวิถีของประชาธิปไตย หากแต่เป็นไปในวิถีของเผด็จการซ่อนรูปนั่นเอง

การชุมนุมประท้วงของเยาวชนคนหนุ่มสาวได้เริ่มต้นอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๒ ต่อเนื่องจนถึงต้นปี ๒๕๖๓ และหยุดลงไประยะหนึ่งอันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ และเริ่มเปิดฉากในยกสองเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม การชุมนุมและการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจรัฐขยายไปทั่วประเทศ การชุมนุมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย โรงรียน และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ นับร้อยแห่ง

รัฐไทยในยุคที่เครือข่ายพลเอกประยุทธ์ควบคุมอำนาจบริหารปกครองประเทศนั้น ในสายตาและมุมมองของเยาวชนคนหนึ่มสาว พวกเขาเห็นว่ามีปัญหาทั้งเรื่องความไม่ชอบธรรมของแหล่งที่มาของอำนาจที่มีฐานจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ มีการใช้อำนาจที่ขาดความเที่ยงธรรมเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องและเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง มีการใช้อำนาจรัฐมอบอภิสิทธิ์แก่คนบางกลุ่ม และมีการใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง ด้วยข้อสรุปเหล่านี้เยาวชนคนหนุ่มสาวจึงได้ร่วมกันออกมาขับไล่รัฐบาลประยุทธ์และเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ โดยให้ประชาชนมีพื้นที่ทางอำนาจทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจมิใช่เรื่องง่าย ความสำเร็จและความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ทุกเวลา บางช่วงอาจดูเหมือนได้ชัยชนะแต่ก็ไม่ยั่งยืน บางช่วงอาจถดถอยและประสบความพ่ายแพ้ ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเพื่อแบ่งปันอำนาจจากการครอบครองของชนชั้นนำและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนมักเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานและมีความยากลำบาก แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราเช่นกันว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีกลุ่มใดที่มีอำนาจเหนือประชาชนได้ตลอดไป ความเสื่อมสลายก็เกิดขึ้น จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น