xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกของรัฐบาลและบ้านเมืองท่ามกลางปัญหาที่รุมล้อม

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ดูเหมือนว่าบ้านเมืองเราในขณะนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวายหลายประการ

ประการแรกคือ ความเจ็บป่วย มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิด การระบาดรอบที่ 2 ของมหาโรคระบาดโควิด-19 น่าจะระบาดจะเข้ามาจากทางฝั่งพม่าตามแนวชายแดนมากกว่า 2,400 กิโลเมตรและมีช่องทางธรรมชาติอยู่มากมาย

ประการที่สองคือ ปัญหาความยากจนและปากท้องเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังจะเกิดการถดถอยอย่างหนัก ที่สุดที่เรียกว่า The Great Depression ซึ่งครั้งนี้จะเกิดในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real sector) เพราะโควิด-19ทำให้เกิดการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด และเนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยลงถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงจะทำให้การถดถอยในครั้งนี้ซึมยาวและลากยาวอย่างน้อย 2-3 ปี

ในขณะที่ประเทศไทยนั้นอาศัยการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 5 และการท่องเที่ยวไทยซึ่งอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญก็หยุดชะงักหมด จนกว่าประเทศต่าง ๆ จะฟื้นตัวในทางเศรษฐกิจและกว่าจะมีวัคซีนรักษาโรคโควิตได้สำเร็จก็น่าจะอีก 2-3 ปีและกว่าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเก็บสะสมเงินทองทรัพย์สินที่พร้อมสำหรับการท่องเที่ยวต่างประเทศได้ก็น่าจะอีก 1-2 ปี เพราะฉะนั้นภาคท่องเที่ยวของไทย น่าจะซึมยาวไปอีก 3-5 ปี ในขณะที่เรามีแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้จะตกงานค่อนข้างมาก ความยากจนจะลุกลามไปทั่วประเทศ ในขณะที่เงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้ 3 เดือนนั้นก็หมดสิ้นลงไปเสียแล้ว ต่อไปนี้ประเทศไทยจะไม่ปลอดภัย เมื่อปากท้องไม่มีจะกิน ก็อาจจะจำเป็นต้องจี้ปล้นหรือลักขโมย บ้านเมืองจึงไม่ปลอดภัยนักในอนาคตอันใกล้

ประการที่สาม ความแตกแยกทางการเมืองและความคิดในสังคมไทยโดยผ่านสงครามไซเบอร์และขบวนการล้มเจ้าออนไลน์ ซึ่งก่อร่างสร้างตัวมาอย่างเข้มแข็งเป็นระบบและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนการใช้ข้อมูลใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรง สังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้วคือขั้วที่เป็นกษัตริย์นิยม (royalist) และขั้วที่เป็นปฏิกษัตริย์นิยม (anti-royalist) สภาพการณ์เช่นนี้มีสภาพคล้ายกับเมื่อคราว 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การแตกร้าวและการนองเลือดในบ้านเมืองเมื่อไหร่ ก็ยากที่จะคาดเดา

ประการที่สี่ ความเน่าเหม็นและไร้เอกภาพทางการเมือง มีประเด็นขัดแย้งตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการเรียกร้องตำแหน่งของ ส.ส. นักการเมืองน้ำเน่าในสภาที่น่าสะอิดสะเอียนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีการปฏิรูปใด ๆ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการเมืองด้วย ประเทศไทยก็ยังอยู่ในวงวนของความเป็นน้ำเน่าทางการเมืองอย่างไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ถ้าจะสรุปสภาพของบ้านเมืองในขณะนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามีแนวโน้มที่จะ เจ็บ จน ตกงาน ขาดความปลอดภัย แตกแยกทางความคิด และอาจนำไปสู่การนองเลือดได้

เมื่อทุกปัญหามารุมล้อมกันในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ทำให้ทางเลือกของรัฐบาลอาจจะมีไม่มากนักหากสถานการณ์ทางการเมืองเกิดความวุ่นวาย เช่น การปาระเบิดของมือที่สาม การยิงกราดใส่ผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยผู้ก่อการร้าย ก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องมีการปราบปรามจับกุมหรือแม้กระทั่งประกาศใช้กฎอัยการศึกไปตามลำดับขั้นตามความจำเป็นจากเบาไปหาหนักเพื่อสวัสดิภาพและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน

เรามาลองพิจารณาทางออกของบ้านเมือง ณ เวลานี้
ทางออกที่หนึ่ง ยุบสภาผู้แทนราษฎร หลังจากผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีนี้

เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดขาดตอนในการเบิกจ่ายงบประมาณ อันอาจจะนำมาสู่ปัญหาปากท้องและปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนายิ่งกว่าเก่า

ทางเลือกนี้นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจยุบสภาก็ต่อเมื่อมีความมั่นใจว่าภายหลังการเลือกตั้งจะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง

สัญญาณหนึ่งซึ่งชัดเจนมากก็คือการที่พรรคพลังประชารัฐน่าจะสมานฉันท์กับพรรคเพื่อไทยได้ ทั้งนี้เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงนามในการขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าภายหลังการเลือกตั้งหลังการยุบสภา พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทยและอาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่จะร่วมกันเป็นรัฐบาลใหม่โดยที่โดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลเอาไว้เพียงพรรคเดียว เนื่องจากมีท่าที ซึ่งเป็นปฏิกษัตริย์นิยม อย่างรุนแรง

ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจจะต้องการหักหลังพรรคก้าวไกลเพราะพิจารณาแล้วอาจจะคิดว่าไม่คุ้มที่จะร่วมสังฆกรรมกับพรรคก้าวไกลอีกต่อไป และการร่วมให้สัตยาบันในการที่จะมาเป็นรัฐบาลร่วมกันกับพรรคพลังประชารัฐนั้นจะทำให้การเลือกตั้งราบรื่นเพราะมีอำนาจรัฐอยู่ในมือหนุนอยู่ ถึงแม้พรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นที่หนึ่งก็ตามแต่ก็สามารถที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยที่แม้จะมีเสียงไม่มากนักก็สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นพรรคกิจสังคมมีเสียงแพงเพียงแค่ 18 เสียงก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีหรือได้เช่นกัน

ทางเลือกนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาได้เร็วแต่อาจจะไม่ยั่งยืนนัก เพราะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ เน้นการล็อบบี้ จับมือกันเพื่อให้พรรคการเมืองต่าง ๆ สามารถรวมตัวกันแล้วจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งได้โดยโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลหรือพรรคอนาคตใหม่เดิม

ทางออกนี้อาจจะทำให้กลุ่ม กปปส. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดิมเกิดอาการร้องยี้และอกหักได้ เพราะพรรคเพื่อไทยก็อยู่ในระบอบทักษิณที่ตนเองเคยต่อสู้และต่อต้านชุมนุมทางการเมืองลงท้องถนนมาทั้งคู่ความรู้สึกสะอิดสะเอียนและรังเกียจระบอบทักษิณคงทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งดูเน่าเหม็นและเป็นพรรคการเมืองซึ่งประชาชนไม่ให้การยอมรับนักและได้รัฐบาลที่ประชาชนไม่ศรัทธาเท่าที่ควร
ทางเลือกที่ 2 ยุบสภาผู้แทนราษฎรหลังจากผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีนี้และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียวโดยกำหนดให้วุฒิสภาไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้

วิธีการนี้สามารถทำได้เร็วไม่ต้องทำประชาพิจารณ์เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่เพียงมาตราเดียวเท่านั้น

ข้อดีของวิธีการนี้จะทำให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรีที่ได้มาหลังการเลือกตั้งมาจากการเลือกตั้งจริง ๆ โดย ส.ส. และมีความเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น ทำให้กลุ่มที่ต่อต้านไม่มีความชอบธรรมในการต่อต้านได้มากนัก ยกเว้นแต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งนั้นเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่นจนกระทั่งประชาชนไม่อาจจะรับได้ จึงจะเกิดความชอบธรรมในการขับไล่รัฐบาลได้อีกครั้ง

วิธีการวิธีการนี้น่าจะเหมาะสมและระงับความขัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะมีบางพวกบางฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ อันจะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรง

นอกจากนี้วิธีการนี้ยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาในทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง แน่นอนว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ อาจจะจับมือกันไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มสูงมากที่พรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่เดิมจะถูกโดดเดี่ยวและหักหลังอีกครั้งหนึ่งโดยพรรคเพื่อไทยหากทางออกเป็นวิธีการนี้ด้วยวิธีการนี้จะทำให้การเข้าสู่อำนาจรัฐหลังการเลือกตั้งมีความชอบธรรมเพราะไม่มีการลงมติหรือลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาโดยสมาชิกวุฒิสภาอีกแล้ว และไม่มีข้ออ้างในการมาต่อต้านว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอีกต่อไป แม้ว่าหน้าตาของรัฐบาลที่ได้หลังการเลือกตั้งอาจจะอัปลักษณ์หรือเป็นที่ร้องยี้ของประชาชนก็ตาม กลุ่ม กปปส. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็อาจจะผิดหวังเช่นเดิม เพราะไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้เร็วและได้รับความชอบธรรมพอสมควร


ทางเลือกที่ 3 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและทำประชาพิจารณ์โดยจะใช้เวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประมาณ 18 เดือนและใช้งบประมาณในการทำประชาพิจารณ์ประมาณ 15,000 ล้านบาท
วิธีการนี้เป็นทางเลือกที่ยื้อ เป็นเกมยาวที่เตะถ่วง และการเมืองบนท้องถนนจะเข้มข้นและอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงและความแตกแยกทางความคิดในสังคมจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากเลือกใช้ทางนี้เป็นทางออก

และแม้ท้ายที่สุดภายหลังการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จเสร็จสิ้นลงก็ต้องประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ตาม

สิ่งที่ยากอีกประการหนึ่งก็คือการคุมเกมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดความแตกแยกมากเกินไปหรือเสียหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความน่าจะเป็นในการเลือกใช้วิธีการนี้เป็นทางออกแก้ปัญหาบ้านเมืองนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลก็คงจะดำเนินการต่อต้านอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกที ในแต่ละวัน และคงจะเกิดความวุ่นวายหลายประการในระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะเกิดความราบรื่น ซึ่งหากจะยื้อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราจนสำเร็จเสร็จสิ้นน่าจะใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าเท่ากับอายุของรัฐบาลที่เหลือ

แต่คำถามคือ ณ เวลานี้ แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นตำแหน่งที่หาคนที่เหมาะสมได้ยากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเป็นเศรษฐกิจขาลงอย่างรุนแรง ไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาเสี่ยงกับการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในระยะเวลาเช่นนี้

นอกจากนี้ Technocrat ซึ่งมีความรู้ความสามารถสูงก็ไม่อยากเปลืองตัวในการที่จะต้องมาทำงานกับนักการเมืองน้ำเน่า เขี้ยวลากดิน ปัญหาก็คือหากรัฐบาลไม่สามารถสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เหมาะสมและดำรงตำแหน่งต่อยาวๆ ได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอย่างหนักทำให้ขาดความศรัทธาเชื่อถือจากภาคเอกชนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ในขณะที่อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจกำลังดิ่งเหวนั้น ปากท้องประชาชนจะอยู่อย่างไร ความหิวและปากท้องประชาชนเป็นพลังในการขับเคลื่อนม็อบลงถนนและต่อต้านอำนาจรัฐที่มีอานุภาพมากที่สุด เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้ง และเป็นสิ่งที่รัฐบาลหากเลือกทางนี้ต้องเผชิญและเต็มไปด้วยอุปสรรคและความลำบากสารพัด เพราะฉะนั้นทางเลือกนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ

ทางเลือกที่ 4 หากเกิดการนองเลือด การก่อการร้าย ความสูญเสียในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการประกาศใช้พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก

กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่เมื่อประกาศใช้โดยฝ่ายทหารจะมีอำนาจสูงกว่ารัฐธรรมนูญ และสามารถยกเลิกหรือระงับการใช้งานรัฐธรรมนูญบางมาตราได้ การประกาศใช้พรบ.กฎอัยการศึกนั้นเป็นไปเพื่อความมั่นคงและสวัสดิภาพแห่งรัฐ ตลอดจนอธิปไตยของประเทศ อาจจะเกิดการประกาศใช้เพราะปัญหาการนองเลือด ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง หรือภาวะสงครามก็ได้เช่นกัน

วิธีการนี้จะเปลี่ยนตัวผู้เล่นและผู้ถืออำนาจรัฐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะไม่อยู่ในอำนาจรัฐอีกต่อไป และไม่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ทางเลือกที่ 4 นี้ก็มีความเป็นไปได้และไม่มีใครรู้ว่ามือที่สามจะลงมือเมื่อไหร่ และก็จับมือใครดมไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากหลงหายในฝูงชน Lost in crowd

เท่าที่นึกออกมาขนาดนี้ดูเหมือนจะมีอยู่ 4 ทางเลือกแต่สำหรับประเทศไทยอาจจะมีทางเลือกอื่นอีกก็ได้ที่จะนำพาบ้านเมืองให้รอดพ้นหายนะภัยและการสูญเสีย

แล้วสถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น