xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จ่อเปิด"สภาท้องถิ่น"ให้ปชช.สะท้อนปัญหา หรือ?แค่พื้นที่พาหัวคะแนน"ดูงาน"หลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,850 แห่ง น่าจะจัดส่งตัวเลขค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ตามร่างข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ให้กับกระทรวงมหาดไทยรับทราบแล้ว หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนยังขาดเพียง 608 แห่ง ในระดับ อบต. หรือเทศบาลตำบล

ส่วนที่รายงานมาแล้ว 7,241 แห่ง ได้ตั้งงบจัดเลือกตั้งจากเงินของท้องถิ่นเอง 7,791,809,923 บาท ซึ่งจะรวมกับ เงินอุดหนุนจากภาครัฐที่จัดสรรให้กกต.

สัปดาห์ที่ผ่านมานายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทย สั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้แจ้งนายอำเภอ ในฐานะฝ่ายปกครองพื้นที่แจ้งฝ่ายบริหาร อปท.ซักซ้อมแนวทางการตั้งงบฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

มีการลงลึกถึงกรณีที่งบประมาณ ปี2564 ออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณ หรือกรณีให้เลือกตั้งในปีงบฯ 2564 กรณีอปท. ตั้งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เพียงพอ กรณีที่งบประมาณประกาศใช้บังคับแล้วไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน และท้ายสุด กรณีมีการเลือกตั้งคาบเกี่ยวในปี งบฯ 2564 และ 2565

กรณีสุดท้ายนี้เสนอท้องถิ่นให้อาจพิจารณาใช้จ่ายจากเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม โดยให้ขอทำความตกลงกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนการปฏิบัติ เพื่อขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 87 กรณีใช้เงินทุนสำรองเงินสะสม หรือข้อ 89 กรณีใช้จ่ายเงินสะสม

ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนในการพิจารณายกเว้น การปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวในการดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งงบฯ การใช้จ่ายเงินสะสมและเงินทุนสำรองเงินสะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

เป็นเงินสะสม อปท. กระทรวงมหาดไทยเคยรายงานให้ครม.รับทราบว่า ณ วันที่ 30 ก.ย. 60 อปท.มีประมาณ 318,000 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้ อปท.หลายแห่งเสนอให้มหาดไทย เร่งแก้ระเบียบฯนำมาใช้จ่ายในช่วง อปท.กำลัง"ถังแตก" หลังจาดพลาดเป้าในจัดเก็บภาษีท้องถิ่นในช่วงโควิด-19 อีกเรื่องหนึ่ง ครม.เมื่อสัปดาห์นี้ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ...รวม 2 ฉบับที่ "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ตรวจพิจารณาแล้ว ก่อนให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร

กฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นการปรับปรุงวิธีการให้สอดคล้องกับ มาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญ

ร่างฉบับแรก มีสาระสำคัญเช่นกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาอปท.นั้น

กำหนดให้ผู้เข้าชื่อสามารถยื่นคำร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่น เพื่อดำเนินการจัดทำร่างข้อบัญญัติ หรือดำเนินการเชิญชวนให้ร่วมเข้าชื่อหรือขอให้ดำเนินการทั้งสองกรณีและให้ประธานสภาท้องถิ่นตรวจสอบความถูกต้องของคำร้อง หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ให้แจ้งเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง เว้นแต่ความไม่ถูกต้องเกิดจากการปลอมลายมือชื่อให้ยุติการดำเนินการ

กำหนดให้สภาท้องถิ่น ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยมีผู้แทนของผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 2 คน ร่วมเป็นกรรมการวิสามัญ

กำหนดให้ในกรณีที่ร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องตกไป เพราะเหตุอายุของสภาท้องถิ่นสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาท้องถิ่น ถ้าภายใน 120 วัน นับแต่วันที่เรียกประชุมสภาท้องถิ่นครั้งแรก ผู้แทนของผู้เข้าชื่อได้ยืนยันเป็นหนังสือให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อไป ให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อสภาท้องถิ่นโดยเร็ว

อีกฉบับกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือถูกจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

กำหนดวิธีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไว้สองกรณี ดังนี้ (1) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (2) การเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

กำหนดพฤติการณ์ของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะเป็นเหตุให้ถูกเข้าชื่อเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งเช่น มีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมีจำนวนผู้เข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

กำหนดให้ในกรณีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อและมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลประกาศให้ประชาชนทราบและให้ถือวันประกาศเป็นวันพ้นจากตำแหน่งของผู้ถูกถอดถอน

กำหนดให้กรณีการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนไม่ถึง 5,000 คน หรือไม่ถึง 1 ใน 5 ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง

หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อ และมีจำนวนเกิน 5,000 คน หรือเกิน 1 ใน 5 ให้ผู้กำกับดูแลตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการสอบสวนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด และกำหนดฐานความผิดของผู้กระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อผู้ให้เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินการเข้าชื่อหรือมิให้เข้าชื่อ เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ร่างทั้ง 2 ฉบับ เป็น 2 ใน 3 ที่ "กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย" เสนอ ประกอบด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ... เสนอ ปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น“ไม่น้อยกว่า 5 พันคน” ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... เสนอ ตั้งบอร์ด ขรก.ส่วนท้องถิ่น อำนาจ “แต่งตั้ง จัดสอบ โยกย้าย สอบสวน เอาผิด ให้คุณธรรม”และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ) พ.ศ.... เสนอผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 พันคน สามารถยื่นถอดถอนสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เป็นเรื่องใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากข้างต้นแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งอปท. ให้ "สภาท้องถิ่น" ทุกระดับ ได้แก่ สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาเทศบาล สภาองค์การบริหารส่วนตำบล สภาเมืองพัทยา และสภากรุงเทพมหานคร

"กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประชาชน เข้าฟังการประชุมและการปรึกษาของสภาท้องถิ่น รวมทั้งขอความร่วมมือ อปท.ทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกำหนดการประชุมสภาท้องถิ่น และผลการดำเนินงานของสภาท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ ตามวิธีการที่เห็นสมควร"

เหมือนกับกรณีของ“รัฐสภา”ที่เปิดให้ประชาชน กลุ่มประชาชน เข้าไป“ดูงาน”สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาได้ โดยให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ข้อ 117 วรรคสี่ โดยให้สภาท้องถิ่นดังกล่าวกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประชาชน เข้าฟังการประชุมและการปรึกษาของสภาท้องถิ่น

หนังสือด่วนดังกล่าว อ้างถึง"คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา" ได้มีหนังสือถึง กระทรวงมหาดไทย เสนอแนะขอความร่วมมือไปยัง "สภาท้องถิ่น" พิจารณา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหาความต้องการของชุมชนท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีสำนึกและรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง และมีความตื่นตัวในการรักชาติบ้านเมือง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

ในส่วนที่เกี่ยวกับ ประเด็นการปฏิรูปที่ 3 การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม พันธกิจที่ 3 การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการพัฒนา อปท. และเป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น หมวด 14 ของรัฐธรรมนูญ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีการกำหนดตัวอย่างของ ระเบียบว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าฟ้งการประชุมและการปรึกษาของสภาท้องถิ่น เช่น ผู้ประสงค์จะเข้าฟังการประชุมต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าฟังการประชุมและลงลายมือซื่อ ผู้ขอเข้าฟังการประชุม ยื่นต่อ “ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล ...” เพื่อพิจารณาอนุญาต โดยยื่นล่วงหน้าก่อนวันประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล ไม่น้อยกว่า 1 วัน เมื่อประธานสภาอนุญาตแล้วให้ผู้ประสงค์เข้าฟังการประชุมนั้นเข้าฟังการประชุมได้

กรณีที่มีผู้ขอเข้าฟังการประชุมเป็นหมู่คณะ อาจให้ผู้แทนของหมู่คณะนั้นเป็นผู้ขออนุญาตก็ได้ ทั้งนี้ต้องระบุถึงจำนวนและรายชื่อผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมด้วย กรณีที่มีประชาชนยื่นความประสงค์ขอเข้าฟังการประชุมจำนวนมากและไม่สามารถจัดให้ประชาชนเข้ารับฟังการประชุมได้ทั้งหมด

ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/องค์การบริหาร ส่วนตำบล ... พิจารณาอนุญาตให้บุคคลหรือคณะบุคคลเข้าฟังการประชุมตามที่เห็นสมควร หรืออาจจัดให้ประชาชน รับฟังการประชุมภายนอกห้องประชุมหรือในบริเวณใกล้เคียงโดยแจ้งให้ผู้ประสงค์ขอเข้าฟังการประชุมทราบ

ขณะที่ ผู้เข้าฟังการประชุม ต้อง“แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ,นั่งหรืออยู่ประจำในที่ที่จัดไว้สำหรับผู้เข้าฟังการประชุม ,ต้องประพฤติตนให้เรียบร้อย ไม่แสดงกิริยาอาการที่กระทำให้เสื่อมเกียรติของที่ประชุม หรือก่อกวนความสงบเรียบร้อย ไม่พูดจา สนทนา ส่งเสียง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการประชุม ไม่ใช้เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์ถ่ายภาพ บันทึกเสียง วิทยุ-เทป หรืออุปกรณ์อื่นใดที่อาจรบกวนการประชุมได้ ,ไม่นำอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธเข้าไปไนห้องประชุม ,ไม่นำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไปหรือรับประทานในห้องประชุม ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล ... ที่สั่งโดยขอบด้วยกฎหมาย โดยเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด/เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล ... เป็นผู้ดำเนินการเรื่องการขออนุญาต

มีหมายเหตุว่า“สภาท้องถิ่น”สามารถกำหนดเพิ่มเติมหรือปรับปรุงรายละเอียดได้ตามที่เห็นสมควร

มีการคาดการณ์ว่าจะเปิดให้ ประชาชนสามารถเข้าไป “ดูงาน”สภาท้องถิ่นได้ในปีงบประมาณหน้า หรือหลังจากเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ๆ

แนวคิดเปิด “สภาท้องถิ่น”นี้ จะเป็นเพียงพื้นที่ ให้หัวคะแนนพาประชาชนเข้าไป“ดูงาน”หรือจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหาความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ตามที่“คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ”ชุดนี้วาดฝัน ต้องรอดูหลังเลือกตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น