รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น และ พ.ร.บ.เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น รวม 2 ฉบับ
วันนี้ (1 ก.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 254 ที่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริการท้องถิ่นได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ... เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ เช่น 1) ลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัตท้องถิ่นเหลือไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น (จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) 2) ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นจำนวนไม่เกิน 10 คน สามารถร้องขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำร่างข้อบัญญัติหรือเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อหรือให้ดำเนินการได้ทั้ง 2 กรณี
2. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ... เป็นการปรับปรุงวิธีการในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับ มาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนเพื่อประหยัดงบประมาณในการดำเนินการและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น 1) กำหนดวิธีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ไว้ 2 กรณี คือ การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกฯ ผู้มีสิทธิต้องเข้าชื่อรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกฯ ผู้มีสิทธิต้องเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่กฎกระทรวงกำหนด 2) กำหนดพฤติการณ์ของสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่เป็นเหตุให้ถูกเข้าชื่อเพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง เช่น มีความประพฤติที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย ส่อทุจริต และ 3) กำหนดฐานความผิดของผู้ปลอมลายมือชื่อ ผู้ที่ให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน เพื่อให้เข้าชื่อหรือไม่ให้เข้าชื่อเพื่อถอดถอน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาตั้งแต่ 10-20 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 2 ฉบับ ผ่านทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 และเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2562 - 10 พฤศจิกายน 2562 พร้อมทั้งเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว