“บิ๊กฉิ่ง” แจ้งด่วน! ซักซ้อม อปท.ทั่วประเทศ ใช้งบเลือกตั้งท้องถิ่น 7 พันแห่ง ย้ำกรณีฉุกเฉิน งบฯ 64 ไม่ทันใช้-ไม่เพียงพอ ให้ตั้งโอนงบเหลือจ่ายปีปัจจุบัน-ขออนุมัติผู้บริหารท้องถิ่น“กันเงิน” พร้อมคืนปีถัดไป หรือกรณี“เลือกตั้งคาบเกี่ยว”ในปีงบ 64-65 อาจพิจารณา ใช้จ่ายจาก “เงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม” ของ อปท.ในบัญชี เงินสะสม 3.18 แสนล้านใช้แทน
วันนี้ (27 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายฉัตรชัย พหรมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แจ้งนายอำเภอ ในฐานะฝ่ายปกครองพื้นที่ แจ้งฝ่ายบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ให้ซักซ้อมแนวทางการตั้งงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
โดยเฉพาะกรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณหรือกรณีให้เลือกตั้งในปีงบฯ 2564 กรณี อปท.ตั้งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เพียงพอ กรณีที่งบประมาณประกาศใช้บังคับแล้วไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน และท้ายสุด กรณีมีการเลือกตั้งคาบเกี่ยวในบีงบฯ 2564 และ 2565
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นภายกระทรวงมหาดไทยขอให้จังหวัดแจ้ง อปท.เตรียมการจัดทำงบปี 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาขิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยล่าสุดแจ้งว่า มี อปท. 608 แห่ง จาก 7,850 แห่ง ที่ยังไม่ได้บันทึกรายงาน ร่างข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
สำหรับข้อซักซ้อมดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยได้ของให้ อปท.ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งไว้ ในงบปี 2564 ในหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ประเภท ค่าตอบแทน หรือประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เช้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่นๆ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
“ในกรณีมีประกาศให้มีการเลือกตั้งในปีงบ 2564 และงบปี 2564 ออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณ ให้ อปท.ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วไปพลางก่อน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 โดยงบประมาณที่ล่วงมาแล้วไปพลางก่อน จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี”
ส่วนกรณีตั้งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้ในงบปี 2564 ไม่เพียงพอ ให้ อปท.โอนงบประมาณเหลือจ่ายหรือรายการ ที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายไปเพิ่มในค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ประเภทค่าตอบแทน หรือประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เช้าลักษณะ รายจ่ายหมวดอื่นๆ แล้วแด่กรณี โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ฉบับเดียวกัน
และกรณีที่งบประมาณประกาศใช้บังคับแล้ว ให้ อปท.เร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบ 2564 หากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน ก่อนสิ้นปีงบประมาณให้ “ขออนุมัติกันเงินต่อผู้บริหารท้องถิ่น” ไว้เพื่อเบิกจ่ายในปีถัดไป โดยถือปฏิบัติตามระเบียบ กระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับนี้เช่นกัน
ท้ายสุด กรณีมีการเลือกตั้งคาบเกี่ยวในบีงบ 2564 และ 2565 และข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติงบปี 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว หาก อปท.มีรายจ่ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อเนื่อง ระหว่างปีงบประมาณ 2564 ถึง 2565 ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ และแนวทางปฏิบัติในการบริหารงบประมาณ
“ท้องถิ่นก็อาจพิจารณาใช้จ่ายจากเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม โดยให้ขอทำความตกลงกับ ปลัดกระทรวงมหาดไทยก่อนการปฏิบัติ เพื่อขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 87กรณีใช้เงินทุนสำรองเงินสะสม หรือข้อ 89 กรณีใช้จ่ายเงินสะสม”
ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนในการพิจารณายกเว้น การปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวในการดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณ การใช้จ่ายเงินสะสมและเงินทุนสำรองเงินสะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
สำหรับเงินสะสม อปท. กระทรวงมหาดไทย เคยรายงานให้ ครม.รับทราบว่า ณ วันที่ 30 ก.ย. 60 อปท.มีประมาณ 318,000 ล้านบาท