หน่วยงานท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล ทยอยแจ้งความพร้อม หลังผ่านเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติปี63 เจียดเป็น "งบฯเลือกตั้งท้องถิ่น" ส่วนใหญ่ยืนยันเพียงพอ บางพื้นที่ไม่เพียงพอ ชงใช้งบสะสมแทน บางแห่งอ้างงบไม่มี/ไม่เพียงพอ ยื่นขอเงินอุดหนุนมหาดไทย 1 แสนถึง 18 ล้าน เฉพาะ "อบจ.เลย" แจ้งขอรับงบอุดหนุน 18,091,935 บาท อ้างประมาณการน้อยเกินไป แถมจัดโอนงบฯจากรายการอื่นไม่ทัน เหตุประเมินรายได้-รายรับที่ต่ำ เผยอปท.บางแห่ง ระบุใช้งบฯสู้โควิด-19 หมดแล้ว ไม่เพียงพอใช้เลือกตั้ง
วันนี้ (12 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) แจ้งผู้ว่าราชการจังหวักทัวประเทศ เร่งดำเนินการสำรวจข้อมูลการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ เพื่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองสว่นท้องถิ่น (อปท.) หลังจากตรวจสอบล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 5 มิ.ย. และ 26 พ.ค.2563 ไปแล้ว
โดยล่าสุดพบว่า มีจังหวัด ที่รายงานข้อมูลการตั้งงบประมาณรายจ่ายฯ รายการงบฯ เลือกตั้งท้องถิ่น เกือบครบถ้วนแล้ว ล่าสุดประมาณ 6,700 แห่ง จาก 7,852 แห่ง และพบว่า อปท.ส่วนใหญ่ มีความเพียงพอในการใช้งบประมาณ แต่มี อปท.บางแห่งยังจำเป็นต้องโอนงบประมาณรายการเหลือจ่าย หรือรายการอื่นที่ยังไม่มีความจำเป็น มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
"บางแห่งมีงบฯ ไม่เพียงพอ โดยเลือกที่จะให้มีการตั้งงบประมาณใช้จ่ายงบฯเลือกตั้ง จากงบสะสมของ อปท.แทน"
ขณะเดียวกัน มีอปท.หลายแห่ง รายงานว่า มีงบประมาณไม่เพียงพอหรือไม่มีงบประมาณ จึงจำเป็นต้องของบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย โดยส่วนใหญ่ขอรับงบประมาณอุดหนุน ระหว่าง 100,000 - 500,000 บาท ตัวอย่างเช่น เทศบาลเมืองกุฉินารายณ์ ต.ลาดบัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่ขอรับเงินอุดหนุน 469,630 บาท เทศบาลตำบลหนองคล้า อ.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ขอรับเงิบอุดหนุน 540,000 บาท เทศบาลตำบลอ่างคีรี ต.อ่างคีรี อ.มะขาม จ.จันทบุรี ขอรับฯ 400,000 บาท
เทศบาลตำบลตลาดแร้ง ต.ตลาดแร้ง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ขอรับฯ 500,000 บาท เทศบาลนครเชียงราย ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย ของบ 4,100,000 บาท อบต.คลองปาง ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง ขอรับงบฯ 300,000 บาท อบต.เสมา ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ขอรับงบฯ 500,000 บาท อบต.นาน้อย ต.นาน้อย อ.นาน้อย จ.น่าน ขอรับงบฯ 200,000 บาท อบต.นาสามพัน ต.นาสามพัน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ขอรับงบ 250,000 บาท อบต.ท่าเกษม อ.ท่าเกษม อ.เมือง จ.สระแก้ว ขอรับ 700,000 บาท
อบต.คลองหรั่ง อ.นาหม่อม จ.สงขลา ขอรับ 500,000 บาท อบต.ขามเฒ่าพัฒนา ต.ขามเฒ่าพัฒนา อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ของรับงบ 800,000 บาท เทศบาลตำบลคำชะอี ต.น้ำเที่ยง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ขอรับงบ 300,000 บาท เทศบาลตำบลสามัคคี ต.สามัคคี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ขอรับงบ 1,493,650 บาท อบต.พานพร้าว ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ขอรับงบ 1,000,000 บาท
"ขณะที่ อบจ.เลย ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย ได้แจ้งขอรับงบอุดหนุน 18,091,935 บาท โดยระบุว่า เพื่อเป็นค่าบุคลากรการเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับ นายอำเภอ ถึง รปภ. เนื่องจาก อบจ.เลย ตั้งงบเลือกตั้งฯ ปี 2563 เพื่อไว้เลือกตั้ง นายกฯ และส.อบจ. ตามข้อบัญญัติไว้เพียง 15 ล้านบาท แต่ประมาณการแล้วคาดจะใช้จ่ายถึง 27 ล้านบาท จึงอาจไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถจัดโอนงบประมาณรายการอื่นได้แล้ว เนื่องจากการประเมินรายได้และรายรับที่ต่ำ"
อบต.หนองบัว ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ขอรับงบ 1,200,000 บาท เทศบาลตำบลโคกกลาง ต.โคกกลาง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ ขอรับงบ 1,000,000 บาท อบต.แก้งเหนือ ต.แห้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ขอรับงบ 600,000 บาท
"ส่วนใหญ่ที่งบไม่เพียงพอ รายงานว่า ขาดค่าตอบแทน กกต.ประจำหน่วย ค่าอุปกรณ์ เครื่องเขียนกระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าหีบ อุปกรณ์ บัตร ค่าป้ายประชาสัมพันธ์ ค่าบอร์ด ป้ายไวบิลประจำหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่อีกหลาย อปท. อ้างคล้าย ๆ กันว่า งบประมาณที่ตั้งไว้ ได้นำไปบริหารจัดการป้องกันโรคติต่อเชื้อไวรัสโคโรน่ 2019 ทำให้ยอดที่ตั้งไว้ปัจจุบันไม่พอกับการจัดการเลือกตั้ง มีเพียง อปท.ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ระบุว่า เงินรายได้ของ อปท. ได้รับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่เพียงพอกับการดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น".