xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเรียกร้องของกลุ่มไทยภักดี : ส่อเค้าเกิดความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



การชุมนุมของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ไทยภักดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่มาก แต่ถ้าพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการชุมนุม และพฤติกรรมที่แสดงออกแล้ว เป็นที่หวั่นวิตกว่าความขัดแย้งของคนในชาติอาจเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ข้อเรียกร้อง

ในการชุมนุมของกลุ่มไทยภักดี ได้มีการเรียกร้อง 3 ประการคือ

1.1 ให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง

1.2 ไม่ยุบสภาฯ

1.3 ไม่แก้รัฐธรรมนูญ

2. ก่อนหน้านี้ได้มีกลุ่มนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนส่วนหนึ่งได้ชุมนุมกัน และได้เรียกร้อง 3 ข้อคือ

2.1 ให้หยุดคุกคามประชาชน

2.2 ให้ยุบสภาฯ

2.3 ให้แก้รัฐธรรมนูญ

3. กลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักเรียนได้กระจายการชุมนุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตที่มีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา

4. กลุ่มไทยภักดีเองก็วางแผนจะเดินสายชุมนุมต่างจังหวัด

ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากข้อเรียกร้องซึ่งสวนทางกัน โดยเฉพาะในข้อ 2 และข้อ 3 และแผนการชุมนุมแล้วโอกาสที่สองกลุ่มนี้จะปะทะกันเป็นไปได้สูง นอกจากนี้ การที่สองกลุ่มขัดแย้งกันในหลักการ และข้อเรียกร้อง และเหมือนกันในวิธีการคือ กระจายการชุมนุมไปทั่วประเทศ อาจเปิดโอกาสให้มือที่ 3 เข้ามาก่อกวน และทำให้เกิดความแตกแยกแล้วนำไปสู่ความรุนแรงเป็นไปได้ด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และในฐานะที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาอันเป็นที่มาของความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้ตนเองกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจโดยมีกฎหมายรองรับ จะต้องมีการทบทวนแนวทางทางการเมืองของตนเองว่าจะไปต่อหรือจะยุติบทบาททางการเมือง โดยการลาออกเปิดทางให้มีการเลือกนายกฯ คนใหม่เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ หรือถ้าจะเดินต่อไปในตำแหน่งรัฐบาล โดยการยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุมนิสิต นักศึกษา และนักเรียนจะได้อย่างไรในเมื่อเครดิตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมีไม่มากพอที่จะให้ผู้เรียกร้องเชื่อถือ และให้โอกาสในการอยู่ต่อเพื่อทำตามข้อเรียกร้อง และเวลาที่จะคิดหาแนวทางแก้ไขก็เหลืออยู่ไม่มากด้วย ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยโดยอาศัยหลักแห่งตรรกะในข้อที่ว่า เป็นไปไม่ได้ในความเป็นไปได้ และความเป็นไปได้ในความเป็นไปไม่ได้ ดังต่อไปนี้

1. อยู่ต่อโดยรับข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 1-2 ปีแนวทางนี้ถ้ามองโดยการทั่วไป และรัฐบาลมีเครดิตทางการเมือง ประชาชนเชื่อถือ ประกอบกับผลงานในการบริหารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นที่ยอมรับของประชาชน ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ว่าภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปได้ก็ตาม

แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนี้ ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับโอกาสดังกล่าวข้างต้นได้ เนื่องจาก 5 ปีกว่าในระบอบเผด็จการ และ 1 ปีกว่าในระบอบประชาธิปไตย มีโอกาสแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศแล้ว แต่ไม่แก้หรือแก้แล้วแต่แก้ไม่ได้

2. อยู่ต่อไปโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และในขณะเดียวกัน มีมวลชนจัดตั้งขึ้นมาทำการเรียกร้องสวนทางกับกลุ่มแรก เฉกเช่นที่กลุ่มไทยภักดีดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะทำให้อยู่ต่อได้หรือไม่

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ตอบได้โดยอาศัยหลักแห่งตรรกะข้อที่ว่า เป็นไปไม่ได้ในความเป็นไปไม่ได้ คือมองเห็นแต่แรกแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมของคนสองกลุ่มในยุคของรัฐบาลทักษิณ แต่ก็ทำไปเพื่อซื้อเวลาอยู่ให้นานที่สุด แต่สุดท้ายก็เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ต่อ

3. ไม่อยู่ต่อ ยอมยุบสภาฯ ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับการรอกลับมามีอำนาจใหม่ ภายใต้เงื่อนไขเดิม เพียงแต่อาจมีการเปลี่ยนตัวละครการเมืองมาเล่นบทผู้นำ แต่สุดท้ายการเมืองไทยก็จะวุ่นเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อในความเห็นส่วนตัวว่า คนไทยที่เป็นไทยทั้งร่างกาย และจิตใจ รักประเทศไทย และรักความเป็นไทย คงจะไม่ยอมให้ประเทศเสียหาย เพียงเพื่อตนเองได้ประโยชน์แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น