ถ้าท่านผู้อ่านได้ฟังหรือได้อ่านข้อเรียกร้องที่นิสิต นักศึกษา และนักเรียนได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับไปดำเนินการ 3 ข้อคือ
1. เลิกคุกคามประชาชน
2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ
3. ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่
กล่าวข้างต้น โดยยึดหลักความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในด้านรูปและเนื้อหาควบคู่ไปกับหลักธรรมาธิปไตย ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะเห็นได้อยู่ในวิสัยที่ผู้บริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย จะรับไปดำเนินการได้ภายใต้กรอบของวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่กับชนชาติไทยมาก่อนที่ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือจะพูดว่าในโลกก็ได้
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามองข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อมาพิจารณา โดยเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มาจากการสืบทอดอำนาจจากระบอบเผด็จการ และพฤติกรรมองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่เกื้อหนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งต่อจากที่เคยดำรงตำแหน่งที่มาแล้วในระบอบเผด็จการยาวนาน 5 ปีกว่า จะพบว่าเป็นการยากที่จะให้รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อไปดำเนินการด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยทางตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยรับราชการทหาร และดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบก คือ ผบ.ทบ. ทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลในระบอบเผด็จการ จึงเคยชินกับการแสดงออกในลักษณะสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการมากกว่าที่จะเจรจา ในทำนองถ้อยทีถ้อยอาศัย และจากจุดนี้เองจะถูกมองว่า ก้าวร้าว และคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสั่งการให้ดำเนินการทางด้านกฎหมายกับแกนนำในการชุมนุม และเชื่อว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้เลิกได้ยาก
2. ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญ การได้อานิสงส์ทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. และอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ที่ให้เลือกนายกฯ ได้ รวมไปถึงการคิดหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย
ดังนั้น จึงเป็นได้ยากที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ทางการเมือง
3. โดยปกติการยุบสภาฯ ซึ่งเป็นอำนาจของนายกฯ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสภาฯ แตกแยกเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางด้านนิติบัญญัติที่รัฐบาลต้องการดำเนินการ และในขณะนั้น รัฐบาลมีคะแนนนิยมทางการเมืองเหนือคู่แข่ง การยุบสภาฯ จึงจะเกิดขึ้นด้วยความเต็มใจ และสมัครใจของนายกรัฐมนตรี
แต่ในขณะนี้ สภาฯ ยังไม่ถึงขั้นแตกแยกและที่สำคัญสถานภาพทางการเมืองของรัฐบาลตกต่ำ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคม ถ้ามีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด เชื่อได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนน้อยกว่าเดิมแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ยากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสภาฯ ตามข้อเรียกร้องด้วยความเต็มใจ
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ข้อข้างต้น ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อคงจะไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายรัฐบาล ตามที่ผู้เรียกร้องต้องการแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขด้านเวลา หรือในด้านเนื้อหา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจาก 14 ก.ย.-6 ต.ค.จะเกิดความตึงเครียดทางการเมืองเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ผู้เรียกร้องจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม โดยการชุมนุมถี่ขึ้น และกระจายไปทั่วประเทศ รวมไปถึงการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานขึ้นด้วย
2. จำนวนผู้ชุมนุมจะเพิ่มขึ้น และขยายวงกว้างขึ้นจากนักเรียน นักศึกษา จะขึ้นไปสู่ประชาชนวัยทำงาน และรวมไปถึงนักวิชาการจะเข้ามาร่วมมากขึ้น
3. ถ้ารัฐบาลนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการขัดขวางการชุมนุม โดยการจับกุมแกนนำมาดำเนินคดี ก็จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น และยากแก่การควบคุม
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ จะทำให้แนวทางแก้ไขด้วยการเจรจาหมดไปเหลือเพียงแนวทางเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องเสียสละด้วยการลาออกเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ และจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม ที่อ่อนแออยู่ในขณะนี้ให้กลับคืนสู่สภาวะที่เข้มแข็งเท่าที่จะทำได้ ภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัดแล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. จะต้องมีการควบคุมการเลือกตั้งให้โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
2. ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเฉพาะกิจ จะต้องไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลที่จะเข้ามาสานต่อการบริหารประเทศต่อจากนี้เป็นเวลา 4 ปีนับจากที่พ้นจากตำแหน่ง