xs
xsm
sm
md
lg

กกร.คงกรอบเศรษฐกิจ-จีดีพีปี 63 หดตัว 7-9% หลังโลกเผชิญโควิดรอบ2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- กกร.มองระยะเวลาที่เหลือของปี2563 ศก.โลกยังอ่อนแรงหลังหลายประเทศเผชิญการกลับมาระบาดโควิด-19รอบ 2 ส่งผลให้ศก.ไทยยังถดถอยต่อเนื่องคงกรอบเติบโตศก.ปีนี้-7 ถึง -9% ส่งออก-10 ถึง-12% เดือนหน้ารอประเมินใหม่อีกครั้ง จี้รัฐเร่งจ่ายเงินผู้ประกอบการรับเหมาโครงการรัฐภายใน 30 วันเพื่อเสริมสภาพคล่อง จับตาชุมนุมประท้วง 19 ก.ย.ใกล้ชิดหากเลยเถิดซ้ำเติมศก.

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกหดตัว หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 หลายประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นตัน หากไทยควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม ที่ประชุม กกร. มองว่าเศรษฐกิจไทยแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดไตรมาส 2 แต่ปัจจัยเสี่ยงยังมีจึงยังคงกรอบประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจปี 2563 อยู่ในกรอบ- 7ถึง- 9 %การส่งออก-10ถึง -12 %ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1ถึง-1.5 % และจะมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้งภายในเดือนหน้า

"เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นนัก โดยต้องลุ้นเพียงเศรษฐกิจสหรัฐและจีนว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการระบาดรุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน แม้เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัวแต่ยังเปราะบางการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังมีอุปสรรคมาก ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า"นายผยงกล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.เสนอค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากการปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่ม Max Claim จาก30 %เป็น 50 %เพื่อให้แบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท.ที่มีอยู่ 500,000 ล้านบาท ปล่อยสู่ระบบมากขึ้น ที่ประชุม กกร.ยังเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเดินหน้าศึกษาเจรจาเรื่องการเข้ากลุ่ม CPTPP เพื่อเร่งสรุปข้อดี ข้อเสีย เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่ควรเร่งตัดสินใจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.เสนอผ่อนปรนเบิกจ่ายเงินของโครงการภาครัฐ สำหรับผู้ประกอบการผู้รับเหมาโครงการจากภาครัฐเมื่อก่อสร้างเสร็จส่งมอบงานเสร็จแล้ว ขอให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของโครงการของภาครัฐภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานภาครัฐทุกประเภทสามารถโอนสิทธิ์การรับเงินให้กับธนาคารได้ด้วย เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับภาคเอกชน เพราะเดิมต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือนกว่าจะได้รับเงิน แม้การรับเหมาจะดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับเงินนำไปใช้หมุนเวียนมากขึ้น

“เอกชนเองติดตามการชุมนุมประท้วงวันที่ 19 กันยายนนี้ หากอยู่ในกรอบกฎหมายไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ภาคเอกชนจะสบายใจ แต่หากยื้ดเยื้อชุมนุมต่อเนื่องอาจกกระทบต่อความเชื่อมั่น โดย กกร.ยึดหลักในระบบประชาธิไตยจึงอยากให้ชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันฟื้นเศรษฐกิจที่หดตัว ทั้งแก้ปัญหาแรงงาน โดยหาช่องทางรับนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำและการเติมทุนให้กับเอสเอ็มอี”นายสุพันธ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น