“ส.อ.ท.” เรียกร้องรัฐบาลเร่งแต่งตั้ง “รมว.คลัง” คนใหม่โดยเร็วและต้องเป็นบุคคลที่ยอมรับได้เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ชี้ไทยเสียเวลากับการแต่งตั้งทีม ศก.และ รมว.คลังมาแล้ว 2 เดือน แนะเร่งเข็นมาตรการฟื้น ศก.โดยเร็วหวังเคลียร์ให้ชัดต่อมาตรการยืดหนี้หรือไม่ รับสัญญาณแรงงานตกงานในภาคการผลิตจะเห็นชัดเจนขึ้นไตรมาส 4 แนะรัฐอัดยาแรงด่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังจับตาใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะแต่งตั้งให้บุคคลใดมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่แทน นายปรีดี ดาวฉาย ที่ยื่นลาออก ซึ่งต้องการให้มีการแต่งตั้งโดยเร็วและเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา และที่สำคัญให้เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจเร่งด่วนเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รออยู่
“ช่วงที่ทีมเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ลาออกพร้อมกันไปก่อนหน้านี้และเมื่อรวมกับการรอการแต่งตั้งนายปรีดี ดาวฉาย มาเป็น รมว.คลังและล่าสุดได้ลาออกไปก็ทำให้เชื่อมั่นเอกชนไม่ดีนักและยังเกิดการตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าลาออกเพราะอะไรอีก แต่ทั้งหมดก็ทำให้รัฐบาลได้เสียเวลาไปพอสมควรกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ถึง 2 เดือน จึงเห็นว่าต้องเร่งแต่งตั้งให้เร็วไม่ควรจะเสียเวลาไปมากกว่านี้เพราะเชื่อว่าโควิด-19 จะยังอยู่กับโลกนี้ไปอีก1-2 ปีจนกว่าจะมีวัคซีนที่รักษาได้” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่เหลือเอกชนต้องการให้รัฐบาลมีความชัดเจนต่อมาตรการการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะครบกำหนด 23 ตุลาคม 2563 ว่าจะเลื่อนออกไปหรือไม่และหากไม่เลื่อนจะมีมาตรการใดมารองรับ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแม้ว่า ธปท.จะร่วมกับสมาคมธนาคารไทยดำเนินโครงการ “DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” ที่เน้นบริการแก้ไขหนี้เดิมและเพิ่มเติมสินเชื่อใหม่เพียงเป็นลูกค้าธุรกิจที่ใช้บริการสินเชื่อตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท ซึ่งเห็นว่าลูกค้าที่เป็นวงเงินต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะมีมาตรการใดมาดูแล
ทั้งนี้ จากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาจากการที่ต้องปิดเมือง (ล็อกดาวน์) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจนมาถึงปัจจุบันที่ได้คลายล็อกดาวน์จนทำให้กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้นั้นต้องยอมรับว่าได้ส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเพราะได้รับผลกระทบตรงที่ต่างชาติไม่สามารถเข้ามายังไทยได้ และระยะนี้สิ่งที่ต้องติดตามคือภาคการผลิตที่อาจจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อการปิดกิจการมากขึ้นและจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจถดถอยทำให้การบริโภคลดต่ำส่งผลให้การส่งออกไทยได้รับผลกระทบ ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศก็ยังไม่ดีนักทำให้สินค้าต่างๆ อยู่ในลักษณะเกินความต้องการ
“ไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมมาตรการทางด้านการเงินและการคลัง และมาตรการที่เกี่ยวกับกระตุ้นแรงซื้อในประเทศให้มากขึ้นเพื่อประคองเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็ได้ดำเนินการเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่ากรณีท่องเที่ยวไทยนั้นขณะนี้ไม่อาจพึ่งพิงการท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้จำเป็นต้องหาแนวทางกระตุ้นแรงซื้อจากในประเทศเป็นสำคัญ” นายเกรียงไกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวแบบจับคู่ประเทศเดินทาง หรือทราเวลบับเบิล คงจะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าจะคุ้มหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าเอกชนส่วนใหญ่เองก็ยังกังวลเนื่องจากล่าสุดประเทศเพื่อนบ้านเริ่มกลับมามีการระบาดโควิด-19 มากขึ้น ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคนเข้าเมืองและหน้าด่านต่างๆ จะต้องเข้มงวดให้ดีเพราะอดีตบางประเทศเคยควบคุมได้เป็นอย่างดีแต่กลับมาระบาดรอบ 2 จากกรณีแรงงานข้ามชาติ