สสส. ลงพื้นที่ชุมชนซอยท่าข้าม 13 บางขุนเทียน ระดมสมองมาตรการรองรับ “แรงงานข้ามชาติ” หลังคลายล็อคโควิด-19 ร่วมค้นหา “ชีวิตวิถีใหม่” ปรับตัวสอดรับความเปลี่ยนแปลง ลุยใช้กลไกอสต. สร้างความเข้าใจสร้างเสริมชีวิตสุขภาวะ
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติ ซอยท่าข้าม 13 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ มอบชุดคู่มือ “สู้!โควิด-19 ไปด้วยกัน” 100 ชุด หน้ากากผ้า 1,000 ชิ้น และเจลแอลกอฮอล์ 1,600 ขวด ให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในชุมชนซอยท่าข้าม 13 ซึ่งมีแรงงานชาวเมียนมาและมอญอาศัยอยู่กว่า 1,500 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม และก่อสร้าง พร้อมแลกเปลี่ยนกับอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ (อสต.) และแกนนำชุมชน รองรับการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยจำนวนกว่า 2 ล้านคน ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 คาดการณ์ว่ามีแรงงานข้ามชาติทั้งสัญญาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เคลื่อนย้ายกลับประเทศต้นทางกว่า 2 แสนคน จากการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดทำให้ สสส ทราบถึงปัญหาและผลกระทบจากโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาติที่ยังอาศัยในประเทศไทยทั้งปัญหาปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ แรงงานข้ามชาติหลายกลุ่ม ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่มีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอทำให้หลายคนไม่เห็นประโยชน์ของการใส่หน้ากากอนามัย หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม
“การระดมสมองร่วมกับแกนนำและเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจะช่วยค้นหาและออกแบบ “ชีวิตวิถีใหม่สำหรับแรงงานข้ามชาติ” รองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับการสถานการณ์ของประเทศ พัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในหลายพื้นที่เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ตาก ชุมพร พังงา ระนองสุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพมหานคร โดยมีอสต.หรืออาสาสมัครแรงงามข้ามชาติ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานข้ามชาติที่สสส.ร่วมส่งเสริมความเข้มแข็งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในช่วงของวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อสต. มีบทบาทสำคัญในการลงพื้นที่เพื่อกระจายอุปกรณ์ป้องกัน รวมทั้งทำหน้าที่สื่อสารให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 ที่สสส.ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย และมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทพัฒนาขึ้นใน 10 ภาษาถิ่น รวมทั้ง ภาษาเมียนมา ลาวและกัมพูชา มีการนำไปใช้ในชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และได้มอบอุปกรณ์ป้องกันให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติไปแล้วกว่า 20,000 คน
ด้าน นางสาวลัดดาวัลย์ หลักแก้ว มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท กล่าวว่า ด้วยการสนับสนุนของ สสส. ทำให้ อสต. และองค์กรภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดได้อย่างทันท่วงที และการแลกเปลี่ยนระดมสมองวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการทำให้เห็นว่าการมีสิทธิและเข้าถึงสิทธิสุขภาพทั้งระบบประกันสังคม และบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องจำเป็นที่แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องมี ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น