กรมอนามัย หารือเครือข่ายผู้ดูแลแรงงานข้ามชาติ เร่งออกแบบการดูแลป้องกันโควิด ผลักดันสถานประกอบการเพิ่มตำแหน่ง “พนักงานส่งเสริมสุขภาพ” แยกชัดจากห้องพยาบาล ด้านกรมควบคุมโรค ร่วม True ID ทำคอนเทนต์ออนไลน์รับมือโรคติดต่อในที่ทำงาน ออกอากาศวันที่ 1 พ.ค.นี้ ในวันแรงงาน
วันนี้ (30 เม.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับเครือข่ายผู้ดูแลแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหารือถึงมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานดังกล่าว ว่า ที่หารือกันไม่ใช่ว่าแรงงานกลุ่มนี้ คือ กลุ่มคนที่มีปัญหา แต่เพื่อให้ทุกคนควรได้รับการดูแล ปกป้องตัวเองให้มากที่สุด หลังการพูดคุยกับเครือข่ายแรงงานทำให้เห็นว่า นอกจากเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม และที่พักอาศัย ซึ่งมีทั้งบ้านพัก หอพัก ไปจนถึงที่พักอาศัยตามธรรมชาติ ยังมีความเชื่อมต่อไปถึงการใช้ชีวิตในชุมชนของแรงงานเหล่านี้ด้วยที่ต้องนำมาสู่การออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงติดโควิด-19 ให้มากที่สุด มีการทำพื้นที่ต้นแบบ โดยจะมีการลงพื้นที่ชุมชนทั้งใน กทม. และพื้นที่ที่มีแรงงานกลุ่มนี้อยู่เยอะเพื่อดูสภาพที่อยู่อาศัย และกิจกรรมที่ทำเพื่อออกแบบส่งเสริมการลดความเสี่ยงแพร่โรค เช่น ที่พักหลายแห่งยังต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันนั้น ต้องมีหลักปฏิบัติตั้งแต่ก่อนไปใช้ห้องน้ำ ต้องทำความสะอาดก่อนใช้ และหลังใช้ โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วมกัน เป็นต้น
“ปกติเราจะมีอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) ดูแล แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ขณะนี้สิ่งที่กรมอนามัยคิดและจะผลักดัน คือ ให้บริษัทสถานประกอบกิจการต้องมีพนักงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง ที่ไม่ใช่งานอาสาสมัคร โดยพนักงานดังกล่าวจะต้องทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มพนักงาน และสถานประกอบการ ซึ่งแตกต่างจากห้องพยาบาล ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการดูแลรักษา” พญ.พรรณพิมล กล่าว
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้ชีวิตของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมีหลากหลาย บางกลุ่มอยู่ในแคมป์คนงาน บางส่วนอยู่ในพื้นที่แออัด และยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ส่วนการป้องกันตัวเองนั้นเป็นไปตามกฎของสังคมที่ต้องให้สวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ทำให้บางกิจการให้คนงานอยู่แต่ในแคมป์ แล้วนำอาหารไปส่งให้ เพื่อลดการรับเชื้อในชุมชน แต่การทำแบบนี้ไม่ใช่จะทำได้ตลอด จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้าไปให้การดูแล ส่งเสริมเรื่องการควบคุม ป้องกันโรค อย่างครอบคลุม
วันเดียวกัน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ หรือทำงานอยู่ที่บ้าน แต่บางส่วนยังต้องทำงานในที่ทำงานหรือทำงานเป็นกะสลับกัน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะพบการติดเชื้อได้เช่นกัน ทั้งนี้ วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรมควบคุมโรค ร่วมกับ True ID และเครือข่าย ทำสื่อเนื้อหาความรู้ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ในหัวข้อ “การรับมือกับโรคติดต่อในสถานที่ทำงาน” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองในวัยทำงานให้ปลอดโรค ปลอดภัย อย่างถูกต้อง รวมทั้งกระตุ้นและส่งเสริมให้ความรู้คนวัยทำงาน ตามสภาพปัญหาทางสุขภาพในแต่ละมิติ และความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อคนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถรับชมได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2563 ทาง ID FEED Shelf เวลา 07.00 น. ทางช่อง ID STATION (TV สด) ซึ่งเป็นช่องแบบออนไลน์ ออกอากาศผ่านทางแอปพลิเคชันและเว็บไซด์ True ID และในเวลา 14.45 น. และ 21.00 น.