xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสายด่วน “แรงงานข้ามชาติ” เพิ่มคู่สาย 1422 ให้ข้อมูลโควิด 3 ภาษาเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ร่วม WHO ต่อยอดสายด่วน 1422 เป็นสายด่วนแรงงานข้ามชาติ เพิ่มคู่สาย 3 ภาษา “เมียนมา ลาว กัมพูชา” ให้ข้อมูลโควิด -19 แรงงานต่างด้าว ช่วยป้องกันตนเอง ควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น และเข้าใจตรงกัน ทั้งการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก และล้างมือ

วันนี้ (29 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) พร้อมด้วย ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงการต่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO partners) มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมเปิดตัว “สายด่วนแรงงานข้ามชาติ” (migrant hotline) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเเละความต้องการของกลุ่มเเรงงานข้ามชาติในไทยให้เข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้อง


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการข้อมูลทางด้านสุขภาพในหลายมิติ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่พบว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา มีแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย 42 ราย ป่วยด้วยโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่เจาะจงต่อกลุ่มเเรงงานเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม จึงได้จัดทำสายด่วนแรงงานข้ามชาติ ให้กลุ่มนี้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ทั้งการป้องกันตนเอง ส่งผลให้เกิดการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย ช่วยตอบคำถามผ่านสายด่วนเบอร์ 1422 ซึ่งเป็นสายด่วนกรมควบคุมโรค แต่สามารถกดหมายเลขเพิ่มเพื่อเข้าสู่ระบบภาษาเพื่อนบ้านที่ต้องการ คือ กัมพูชา กด 81 ภาษาลาว กด 82 และภาษาเมียนมา กด 83 เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป


ดร.แดเนียล กล่าวว่า โควิด-19 เริ่มต้นการระบาดในจีน ใช้เวลาไม่นานก็แพร่กระจายไปทั่วโลก และ เพิ่มจำนวนผู้ป่วยเป็นหลักล้านคน ในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการป้องกันควบคุมโรค ขอบคุณการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข ที่ช่วยควบคุมเป็นด่านหน้าควบคุมโรค และออกมาตรการที่เหมาะสมให้ปฏิบัติ กลุ่มแรงงานในไทย มีถึง 2.7 ล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในช่วงที่มีโรคระบาด ควรจะได้รับการดูแลเต็มที เพราะในลักษณะงานของกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่สะดวกในการทำระยะห่างระหว่างบุคคล หรือการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือการล้างมือ ประกอบกับการอธิบายและสื่อสารทางภาษา ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้น การเปิดสายด่วน 3 ภาษาในกลุ่มแรงงาน จะมีส่วนช่วยให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น