xs
xsm
sm
md
lg

คกก.โรคติดต่อ เห็นชอบตรวจหาเชื้อ “โควิด” คนกลุ่มเสี่ยง-สถานที่เสี่ยง ชง ศบค.เคาะผ่อนปรนเปิดปิดกิจการ 4 กลุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คกก.โรคติดต่อ เห็นชอบแนวทางผ่อนปรนกิจการ 4 กลุ่ม ชง ศบค.เคาะควรเปิดหรือไม่ต่อไป ชี้ ต้องมีมาตรการพื้นฐาน และมาตรการเฉพาะของแต่ละประเภทกิจการ พร้อมไฟเขียวแนวทางตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงอัตรา 5 พันรายต่อ 1 ล้านคน เผยตรวจทั้งแบบครอบคลุมทั้งหมดและแบบสุ่ม

วันนี้ (29 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการ เรื่องแนวทางผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มมีความเสี่ยงต่ำและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผม ฯลฯ 2. กลุ่มที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากและต่อเศรษฐกิจและสังคม หากจะเปิดต้องมีเงื่อนไข เช่น ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น 3. กลุ่มที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา และ 4. กลุ่มมีความเสี่ยงสูง อาจมีความแออัด คับแคบ ทึบ มีการสัมผัสใกล้ชิด ตะโกน กระแทกกระทั้นกัน หลักการคือไม่ควรเปิด

“การเห็นชอบแนวทางฯ ก็มอบให้กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ประสานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งจะเสนอไปทันที ส่วนการจะประกาศกิจการอะไรเปิดก่อนเปิดหลังหรือเปิดเมื่อไร จะต้องรอทาง ศบค.ประกาศ ซึ่งจะพิจารณาทั้งปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นตัวนำ และด้านเศรษฐกิจ โดยจะมีการออกมาตรการพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งหลักการคาดว่าจะเป็นการเปิดเหมือนๆ กันทุกจังหวัด โดยอาจเริ่มจากกิจการในกลุ่มแรกก่อน มิเช่นนั้น ก็อาจมีปัญหาเรื่องการเดินทางข้ามพื้นที่ อย่างไรก็ตาม อาจมีการออกมาตรการเฉพาะเพิ่มเติมให้แก่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการเข้ากับกิจการที่มีคยามผันแปรในพื้นที่ เช่น ร้านอาหารมีหลายขนาด มีความแตกต่างกันไป มาตรการพื้นฐานเหมือนกัน แต่อาจมีมาตรการเฉพาะเพิ่มเติมลงไป เช่น ร้านขนาดเล็กที่จัดระยะห่างได้ยาก อาจเป็นการตั้งฉากกั้นหรือไม่ ร้านตัดผมก็มีหลายแบบทั้งในห้องแถว ในร้านห้องแอร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะไปพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ได้ แล้วอนุญาตให้เปิดหรือไม่เปิด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติ คือ 1. เห็นชอบแนวทางการเฝ้าระวังโดยการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง โดยเพิ่มอัตราการตรวจให้ได้จาก 2,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ภายใน พ.ค.นี้ เนื่องจากเราเข้าสู่ระยะผ่อนปรนจึงจำเป็นต้องค้นหา หรือรับทราบว่ามีคนที่มีอาการน้อยๆ หรือไม่มีอาการ แต่มีการติดเชื้ออยู่หรือไม่ โดยกลุ่มคนที่จะตรวจ คือ บุคลากรทางการแพทย์ คนที่ทำอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานส่งอาหารดิลิเวอรี ส่งไปรษณีย์ พนักงานขับรถโดยสาร แรงงานต่างด้าว ส่วนสถานที่เสี่ยง เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง ชุมชนแออัด ทั้งในเขตเมืองและบางพื้นที่ โดยจะมีการตรวจทั้งแบบครอบคลุม 100% หรือตรวจแบบสุ่ม ทำให้เมื่อเวลาผ่อนปรนโอกาสที่คนออกนอกบ้านมากขึ้น ไปมีกิจกรรมในสังคมมีโอกาสไปสัมผัสกับคนที่มีอาการน้อยๆ แล้วนำมาสู่การแพร่ระบาดลดลงไป

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า วิธีการตรวจ คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อ ด้วย RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และเสริมด้วย RT-PCR จากน้ำลายส่วนลึกในลำคอ เพราะบางพื้นที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก เช่น พื้นที่มีแรงงานต่างด้าวเยอะ มีเป็นหลักพันหลักหมื่นคนก็จะเอาการตรวจน้ำลายส่วนลึกในลำคอมาเสริม เพื่อลดเวลา อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ยังจะใช้การตรวจ RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกเช่นเดิม ขณะนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น กทม. 3 จังหวัดชายแดนใต้ และบางพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวเยอะอย่างสมุทรสาคร เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น