สธ.แจงตรวจเชื้อโควิด-19 จากน้ำลาย ไม่ใช่น้ำลายจากในปาก แต่ต้องขากเอาน้ำลายส่วนลึกในคอ ใส่กระปุกมีอาหารเลี้ยงเชื้อ แล้วตรวจด้วยวิธี RT-PCR ให้ผลใกล้เคียงเก็บสารคัดหลั่ง ช่วยลดเสี่ยงบุคลากร รวดเร็ว เล็งใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชน คนติดเชื้อไม่แสดงอาการ คนเข้า-ออกประเทศ แรงงานต่างด้าว
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ด้วยน้ำลายที่อยู่ส่วนลึกในลำคอ ว่า ที่ผ่านมา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะแยกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยเฝ้าระวัง (PUI) ซึ่งมีการปรับเกณฑ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น 2. กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ 3. การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดภูเก็ต บางส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4. การค้นหาผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการในชุมชน ย่านบางเขน คลองเตย และพื้นที่เคยพบรายงานผู้ป่วย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ล่าสุด ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อที่ได้จากการขากน้ำลายที่อยู่ส่วนลึกในลำคอ เหมือนการขากเสมหะ ซึ่งมีข้อดี คือ 1. เก็บตัวอย่างง่าย ด้วยตัวเอง 2. ลดการใช้ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 3. ราคาถูก และ 4. รวดเร็ว โดยจะนำวิธีนี้ตรวจในกลุ่มที่ 2, 3, 4 ข้างต้น เพราะในกรณีกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น เดินทางมาจากต่างประเทศ ด่านพรมแดน หรือคนที่มาจากต่างประเทศแล้วต้องรีบกลับ ตรวจกรณีมีผู้สัมผัสจากกิจกรรมหนึ่งๆ จำนวนมากนับพันคน รวมถึงนำไปใช้ในการค้นหาคนไม่มีอาการในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น แรงงานต่างด้าว ในจังหวัดสมุทรสาคร ภาคใต้ตอนบน กทม.บางพื้นที่ หรือใช้ตรวจคนเสี่ยงในบุคลากรสาธารณสุข สื่อมวลชน ซึ่งจะทำให้สะดวกมากขึ้น ด้วยราคาที่ถูกลงจะทำให้ตรวจได้มากขึ้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 คือ การตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จะเร็วสุด เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจเพื่อหวังผลในการวินิจฉัย และคัดกรองโรค ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันของเชื้อจะตรวจเจอหลังเกิดการติดเชื้อมานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมกับสถาบันบำราศฯ ในการเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเป็นระยะๆ เพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันพบว่า 1-7 วันหลังมีอาการตรวจเจอภูมิคุ้มกันเพียง 17% หลัง 14 วัน ภูมิคุ้มกันขึ้นแค่ 42% และหลังจากนั้น ถึงตรวจเจอภูมิคุ้มกัน 85% ซึ่งส่วนใหญ่จะหมดเชื้อไปแล้ว จึงมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคและการคัดกรองไม่มากนัก องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำ
“การตรวจที่ผ่านมาด้วยวิธี RT-PCR ต้องใช้บุคลากร ชุด PPE จำนวนมาก ซึ่งเป็นชุดที่ทั่วโลกต้องการทำให้ขาดแคลน ดังนั้นกรมฯ จึงร่วมกับสถาบันบำราศนราดูรในการตรวจหาเชื้อจากน้ำลายที่ขากมาจากส่วนลึกในลำคอ ซึ่งต้องย้ำว่าไม่ใช่แค่การถ่มน้ำลายที่ได้จากกระพุ้งแก้มเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อได้แล้วถ่มลงไปในกระปุกที่มีอาหารสำหรับไวรัสอยู่ ล้างมือให้สะอาดปิดกระปุกใส่ลงไปในถุงซิป 3 ชั้น จากนั้นจะนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ใน ฮ่องกง อเมริกา รวมถึง รพ.รามาธิบดี ทำก็พบว่า ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในลำคอ ตรวจ 100 คน โอกาสเจอ 90 คน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยใช้วิธีนี้ในการเก็บตัวอย่างเชื้อวัณโรค นอกอาคาร รพ.ด้วย ย้ำว่า ไม่มีการแพร่สู่ผู้อื่น ดังนั้น เป็นวิธีที่ตอบโจทย์ จะใช้ในการคัดกรองต่อไป แต่ไม่ได้มาทดแทนการตรวจสารคัดหลั่งในลำคอด้วยวิธี RT-PCR
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกคู่มือการเก็บน้ำลายจากส่วนลึกในลำคอเพื่อคัดกรองโควิด-19 โดยระบุ ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรแปรงฟัน ใช้น้ำยาบ้วนปาก ดื่มน้ำ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งก่อนเก็บน้ำลาย ควรงดการรับประทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง ส่วนขั้นตอนการเก็บ คือ 1. ล้างมือให้สะอาด 2. เขียนชื่อ-ติดกระปุกเก็บเสมหะ 3. เปิดปากถุงซิปล็อกและพับปากถุงทั้ง 3 ขนาดเตรียมไว้ 4. เปิดฝากระปุกเก็บน้ำลาย 5. เทอาหารสำหรับเก็บตัวอย่างไวรัส หรือ VTM ลงในกระปุกเก็บน้ำลาย
6. ขากน้ำลายที่อยู่ในลำคอส่วนลึกในขณะที่ยังสวมหน้ากากอนามัยอยู่ 7. เปิดหน้ากากอนามัยบางส่วน 8. ใส่น้ำลายลงในกระปุกเตรียมไว้ และสวมหน้ากากทันที 9. ปิดฝากระปุกเก็บน้ำลายให้สนิท 10. ใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาดด้านนอกกระปุก 11. พันปิดฝากระปุกเก็บน้ำลายด้วยพาราฟิล์มอีกครั้ง ล้างมือให้สะอาด 12. นำกระปุกใส่ลงไปในถุงซิปล็อก โดยยังไม่ต้องปิดถุง 13. หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้ง 14. ปิดถุงซิปล็อก พับม้วนให้กะทัดรัด และนำไปใส่ถุงซิปล็อกอีก 2 ชั้น 15. เก็บใส่กล่องรักษาอุณหภูมิที่มีเจลเก็บความเย็น และนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 5 ชั่วโมง