สถาบันบำราศฯ แจงขั้นตอนจัดการศพผู้เสียชีวิต “โควิด-19” บรรจุถุงซิปล็อก 3 ชั้น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกชั้น ป้องกันสารคัดหลั่งหลุดรอด และไม่มีการเปิดถุงอีก ช่วยญาติจัดงานศพได้มั่นใจ ไม่มีแพร่เชื้อ ชี้ ฌาปนกิจศพใช้ความร้อนสูง 800-1,000 องศา เชื้อก็ตายหมด ไม่ออกสู่สาธารณะ ขอประชาชนอย่ากังวล ส่วนงานศพควรจัดแบบมีระยะห่าง
วันนี้ (24 มี.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีความกังวลใจของประชาชนเกี่ยวกับการจัดงานศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่อาจมีการแพร่เชื้อ จนมีการต่อต้านการจัดงานศพ ว่า ขอให้ความมั่นใจว่า ศพไม่สามารถไอจามได้ เพราะการติดต่อของโรคนี้ คือ การสัมผัสสารคัดหลั่ง การไอจาม จากการพูดคุย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตบางรายก็ไม่ได้มีเชื้อแล้ว เช่น คนที่เป็นวัณโรคร่วม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทำไมถึงต้องกังวลโรคนี้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการไปร่วมงานศพผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมาก็จำนวนมาก ซึ่งวัณโรคเป็นการแพร่เชื้อทางอากาศด้วยซ้ำ ทำไมเราถึงไม่กังวล แต่มากังวลตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ศพต้องมีการดูแลอย่างเหมาะสมทุกราย ญาติพี่น้องที่จะทำบำเพ็ญกุศลไม่ต้องกังวลสามารถทำได้ตามปกติ ส่วนคนที่จะไปร่วมงานศพก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกังวลอะไรมากกับตัวศพว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เราต่างหากที่เราเข้าไปชุมนุมในงานศพต่างหาก ดังนั้น ในงานศพก็ต้องมีมาตรการรักษาระยะห่าง เพราะเชื้อโรคอยู่ในคนปกติอย่างเราๆ มากกว่า
“การติดต่อของเชื้อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอจามหรือพูดคุย เพราะฉะนั้นผู้เสียชีวิตไม่สามารถทำให้เกิดตรงนี้ได้ มีแต่ผู้เข้าไปสัมผัสเท่านั้น แพทย์ พยาบาล คนปลงศพ ซึ่งจะมีระบบของการทำงานด้านนี้ที่ถูกควบคุมมาตรฐานอยู่แล้วตั้งแต่ใน รพ. ไม่ต้องกังวลใจถึงในงานศพ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถาบันบำราศฯ รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 117 คนขณะนี้ยังมีผู้ป่วยนอนรักษาอยู่ 74 คน มีผู้ป่วยเสียชีวิตที่สถาบันบำราศฯ 3 ราย ซึ่งเราพยายามอย่างที่สุดจะต่อสู้กับโรค เช่น การให้ยาต่างๆ ทั้งยาต้านเอชไอวี ยามาลาเรีย ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาประคับประคอง ซึ่งเราก็ขอแสดงความเสียใจที่ไม่สามารถยื้อชีวิตทั้ง 3 ได้
นพ.อภิชาต กล่าวว่า สำหรับการจัดการศพ เรามีการซักซ้อมตามมาตรฐาน โดยผู้ที่จะเข้าดูแลร่างผู้เสียชีวิตจะใส่ชุดป้องกันตัวอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าร่างจะมีเชื้อแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งบางรายก็รักษาจนไม่มีเชื้อแล้ว แต่ก็ต้องสวมใส่เพื่อความมั่นใจในการทำงาน โดยจะมีนำสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% นำมาอุดตามช่องอวัยวะต่างๆ จากนั้นจะพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทุกด้านของร่างกาย แล้วจึงนำร่างบรรจุถุงซิปล็อกจำนวน 3 ชั้น โดยหลังบรรจุชั้นที่ 1 มีการสเปรย์ฆ่าเชื้อ แล้วนำบรรจุลงในถุงชั้นที่ 2 ฉีดพ่นฆ่าเชื้อแล้ว บรรจุลงถุงชั้นที่ 3 แล้วสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้ออีกรอบ เพื่อสร้างมั่นใจผู้ดูแลผู้เสียชีวิตว่า ถุงซิปชั้นนอกสุดจะไม่มีเชื้อโรคเลย โดยถุงซิปบรรจุร่างก็เป็นถุงสำหรับใส่ร่างศพจากโรคติดต่ออันตราย โอกาสหลุดรอดหรือรั่วก็เป็นไปได้ยาก
นพ.อภิชาต กล่าวว่า หลังจากบรรจุศพแล้ว จะไม่มีการเปิดถุงอีก ดังนั้น ก่อนที่จะมีการดำเนินการดังกล่าว ญาติผู้เสียชีวิตก็จะต้องใส่ชุดป้องกันเพื่อมายืนยันร่างผู้เสียชีวิตก่อน ทั้งนี้ เมื่อเคลื่อนย้ายศพมาถึงวัดก็สามารถดำเนินการตามพิธีทางศาสนาได้ตามปกติ รวมถึงการฌาปนกิจศพก็จะดำเนินการโดยการเผาถุงซิปทั้งหมดไปด้วยเลย ซึ่งเชื้อนี้ก็ตายได้ในอุณหภูมิที่มีความร้อน 60-70 องศาเซลเซียสเชื้อก็ตายแล้ว แต่การฌาปนกิจศพใช้ความร้อนมากกว่า 800-1,000 องศาเซลเซียม เชื้อก็ไม่รอดที่จะออกมาสู่สาธารณะ ขอให้มั่นใจในกระบวนการดำเนินการ
พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผอ.สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขั้นตอนการจัดการกับศพผู้เสียชีวิตโควิดทุกราย ทุกรพ.จะทำเป็นมาตรฐาน คือ เมื่อเสียชีวิต ร่างผู้เสียชีวิตจะถูกนำมาบรรจุลงในถุงซิป 2 ชั้น เพื่อป้องกันสารคัดคลั่งหลุดรอดออกมา พร้อมกับมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อพ่นลงไป โดยศพจะไม่ได้ถูกฉีดน้ำยา แต่จะถูกนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และมีข้อปฏิบัติเคร่งครัด คือ ไม่มีการอาบน้ำ และไม่มีอนุญาตให้ญาติสัมผัสจับต้องศพ โดยใช้มือเปิดถุงซิปออก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
นพ.ทรงคุณ วิญญูวรรธน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันพยาธิวิทยา กล่าวว่า การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 นี้ เกิดจากสารคัดหลั่ง ละอองฝอย ไอ จาม แต่ศพไม่ไอ การแพร่เชื้อไม่มี อีกทั้งถูกบรรจุอยู่ในถุงซิปถึง 2 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารคัดหลั่งหลุดรอดออกมา ยิ่งเก็บศพไว้นานเชื้อยิ่งน้อยลง เพราะธรรมชาติของเชื้อโรคที่อยู่ในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเสียชีวิตลง เซลล์ต่างๆเนื้อเยื่อต่างๆ ก็ตายลง ทำให้เชื้อโรคก็อยู่ไม่ได้ต้องตายลง ลดปริมาณลงเช่นกัน การเผาศพที่วัดใช้ความร้อนสูงมาก เนื้อเยื้อผิวหนังมอดไหม้ กระดูกยังสลาย เชื้อโรคย่อมต้องหมดไปอยู่แล้ว และเชื้อโรคก็ไม่แพร่ทางควัน เพราะหมดไปแล้ว ดังนั้น คนไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพสามารถทำได้โดยปกติ เพียงแค่มีระยะห่าง พระและคนร่วมงานศพไม่ต้องกังวล