สธ.ตั้งเป้าตรวจเชื้อโควิดให้ได้ 4 แสนราย เผยยังขาดอีก 1.7 แสนราย แบ่งตรวจผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน 8.5 หมื่นราย และขยายตรวจคนติดเชื้อไม่มีอาการใน 5 กลุ่มเสี่ยง และ 4 สถานที่เสี่ยง อีก 8.5 หมื่นรายทุกจังหวัดทั่วประเทศ คือ บุคลากรการแพทย์ คนขับรถสาธารณะ ผู้ต้องขัง/ต้องกัก แรงงานไทย-ต่างด้าวที่อยู่แออัด และอาชีพเสี่ยง ในชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีรถโดยสาร และสถานีรถไฟฟ้า
วันนี้ (7 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการตรวจเชื้อโควิด-19 ว่า นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เสนอเป้าหมายว่าต้องตรวจให้ได้ 6 พันรายต่อ 1 ล้านประชากร คิดคำนวณแล้วประมาณ 4 แสนตัวอย่าง ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น้อย อยู่ระดับปานกลาง โดยตั้งแต่ต้นปีตอนนี้เราตรวจได้ 2.3 แสนตัวอย่าง เหลือประมาณ 1.7 แสนตัวอย่าง ก็มีการวางแผนนำมาแบ่งเป็น 1. การตรวจผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ที่มีการขยายกลุ่มคนไม่มีไข้แต่มีอาการคล้ายหวัดและคนที่ดมไม่ได้กลิ่น คาดว่า จะมีประมาณ 8.5 หมื่นคน และ 2. ค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักแรงงานเข้ามาแบบผิดกฎหมาย คนขับรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ส่งของ กลุ่มนี้หาอีก 8.5 หมื่นคน สุ่มกระจายทั่วประเทศเพื่อกวาดคนเสี่ยงเข้าระบบการรักษา
วันเดียวกัน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เริ่มจากการตรวจกลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) หากพบผู้ป่วยยืนยันจะตามไปตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่บางพื้นที่ยังเจอผู้ป่วยต่อเนื่อง เช่น ภูเก็ต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กทม. ชลบุรี กระบี่บางส่วน ชุมพร เป็นต้น จึงดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active case finding) โดยค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ และแยกกัก เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาด แต่เมื่อเราควบคุมโรคได้ดี ผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ผู้สัมผัสก็น้อยลง การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกก็น้อยลง คำถามคือจะมีคนติดเชื้อในชุมชนโดยไม่มีอาการหรือไม่ จึงนำมาสู่การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เช่น กทม. ตรวจ 3 พันกว่ารายเจอ 1 ราย หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้พบประปรายในอัตราต่ำกว่า 1%
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรามีมาตรการผ่อนปรนกิจการต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนหนึ่งไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางกายภาพ พบพฤติกรรมไปแย่งกันซื้ออาหาร สิ่งของที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น สุรา เป็นต้น และพบประชาชนส่วนหนึ่งมีการเบียดเสียดในขนส่งสาธารณะ ทำให้มีประชาชนและนักวิชาการกังวลว่า เราจะมีโอกาสกลับไปสู่สถานะการระบาดระลอกที่ 2 หรือไม่ จึงนำมาสู่เป้าหมายการตรวจเพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง
“ถามว่า การเฝ้าระวังเชิงรุกนี้แตกต่างจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างไร ซึ่งการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) เป็นการหาในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง เช่น มีผู้ป่วยมากกว่า 28 วัน หาสาเหตุไม่ได้ติดมาจากไหน ส่วนการเฝ้าระวังเชิงรุกเป็นการดำเนินการกับประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงทั่วประเทศ และเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการใดๆ เพื่อสร้างความมั่นใจการควบคุมป้องกันโรค สำหรับการดำเนินงานก่อนและระหว่างผ่อนปรน เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม.มีแนวทางดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุกภายในจังหวัดตนเอง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ประชากรกลุ่มเสี่ยงพิจารณาจาก 1. มีการรวมตัวกันจำนวนมาก อาจเป็นคนๆ เดียวที่ทำงานเสี่ยงไปพบผู้คนจำนวนมาก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังผู้ต้องกัก คนขับรถสาธารณะ พนักงานประจำรถ แรงงานไทยและต่างด้าวที่มีลักษณะการอยู่รวมกันแออัด ทั้งที่ทำงานและที่พักอาศัย และกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ราชทัณฑ์ ทำมาค้าขายในห้าง ส่วนสถานที่เสี่ยง คือ ผู้คนอยู่รวมกันจำนวนมากๆ เช่น ชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งโดยสารทั้งทางบก น้ำ อากาศ และสถานีรถไฟฟ้า การตรวจจะใช้การตรวจน้ำลายส่วนลึกจากลำคอ มาตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยเป้นการตรวจแบบรวมกลุ่มกลุ่มละ 7-8 คน ทำให้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท และมีความรวดเร็วในการตรวจ โดยการตรวจจะกระจายใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม.เป็นผู้กำหนดประชากรกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยงนั้น ในการทำแผนและดำเนินการ อย่างจังหวัดประชากรน้อย ไม่เสี่ยงหรือเสี่ยงต่ำก็ต้องตรวจไม่น้อยกว่า 400 ราย หากประชากรมาก มีความเสี่ยงจากการระบาด มีรายงานในรอบ 28 วัน เช่น กทม.ก็ตรวจไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นราย ซึ่งได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ซักซ้อมแล้ว ส่วนสัปดาห์หน้าจะกระจายวัสดุสนับสนุนไปยัง 77 จังหวัด
“ตราบใดที่สถานการณ์ต่างประเทศยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร คาดว่า เราจะอยู่กับโรคนี้ไม่น้อยกว่า 1-2 ปี แต่สามารถอยู่ได้ ถ้าประชาชนระดับบุคคลคงมาตรการป้องกันโรคต่อเนื่อง กิจการกิจกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้กำกับภาครัฐมีการกำกับติดตามประเมินบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนปลอดภัยจากโควิดและประเทศไทยสามารถผ่อนปรนให้วิถีเศรษฐกิจสังคมกลับคืนมาโดยภาพรวมประเทศยังคงปลอดภัย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว