xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงผลตรวจ “แล็บยะลา” เออเรอร์ เหตุตัวควบคุมลบปนเปื้อน RNA ไม่ฟันธงสาเหตุ ชี้จุดหลักไม่บกพร่อง แต่ต้องปรับปรุงบางเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจงผลตรวจแล็บยะลา 40 ราย รอบ 3 ผลเป็นลบ ส่วนตัวควบคุม น้ำเปล่า ได้ผลบวก เพราะปนเปื้อน RNA ของเชื้อ ชี้ไม่มีชีวิต ไม่ทำให้ติด แต่ฟันธงไม่ได้เกิดจากอะไร เผยตรวจสอบแล้ว แล็บยะลา ไม่มีจุดหลักบกพร่อง แต่มีจุดเล็กน้อยต้องปรับปรุง พบตรวจมากไป ห้องเล็กระบายอากาศไม่ดี แต่ไม่ใช่ปัจจัยทำให้ค่าเพี้ยน เร่งทำความสะอาดแล้ว คาดเปิดใหม่เร็วๆ นี้ ยันไม่ใช่ความผิดพลาด แต่การตรวจมีโอกาสเออเรอร์เสมอ

จากกรณีการตรวจค้นหาเชิงรุก จ.ยะลา จำนวน 311 ราย โดยมีความผิดพลาด หรือเออเรอร์ จำนวน 40 ราย จากปัญหาตัวเปรียบเทียบ Negative Control จากน้ำเปล่าที่ต้องเป็นลบเสมอ กลับกลายเป็นผลบวก ทำให้ต้องมีการตรวจสอบและตรวจยืนยันใหม่ โดยตรวจทดสอบใหม่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา ให้ผลเป็นลบ และมีการตรวจสอบยืนยันแล็บที่ 3 คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

วันนี้ (6 พ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวถึงผลการตรวจชาวยะลา 40 ราย ว่าขณะนี้ผลตรวจแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันออกมาว่า ทั้ง 40 รายให้ผลเป็นลบเช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา โดยจะรายงานผลไปยังทีมระบาดวิทยา และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ยะลา ในฐานะผู้ให้ทำการตรวจเพื่อนำไปประมวลผลและดำเนินมาตรการต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ตัวควบคุมลบให้ผลเป็นบวกก็ต้องหาสาเหตุ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 พ.ค.มีทีมผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศษสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ลงไปตรวจสอบดูว่าเกิดจากอะไร

นพ.โอภาสกล่าวว่า ทีมที่ลงไปตรวจสอบรายงานว่า ห้องแล็บ รพ.ยะลา ไม่มีอะไรที่บกพร่องแบบรุนแรง (Major Error) แต่มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจต้องปรับปรุง เช่น มีการตรวจตัวอย่างจำนวนมาก โดยแล็บยะลาตรวจมากถึง 4 พันตัวอย่างใน 1 เดือน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในระดับ รพ.จังหวัด เจ้าหน้าที่จึงทำงานหนัก โดยปกติห้องปฏิบัติการเล็กๆ ตรวจเต็มที่ก็ประมาณ 100 ตัวอย่าง แต่พบว่าบางวันตรวจ 700-800 ตัวอย่าง เท่ากับว่าวันหนึ่งตรวจ 7-8 รอบ เรียกว่าตรวจเกือบ 24 ชั่วโมง จากการดำเนินการค้นหาเชิงรุกหรือ Active Case Finding ซึ่งหากจะหาเคสเยอะๆ ก็แนะนำว่า อาจต้องให้แล็บอื่นช่วยดำเนินการตรวจด้วย มิเช่นนั้นคนทำงานอาจจะล้าได้

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะที่เรื่องของเครื่องมือไม่มีอะไรบกพร่อง ห้องตรวจทำได้ตามมาตรฐาน ซึ่งมี 3 ส่วน คือ สกัดอาร์เอ็นเอ ตัวผสมน้ำยาและขยายดีเอ็นเอ และตัวอ่าน PCR ซึ่งก็แบ่งได้อย่างถูกต้อง แต่ รพ.ไม่ได้มีห้องแล็บไว้ก่อน ถ้าตรวจเคสเยอะๆ ห้องจะค่อนข้างแน่น อาจต้องขยายห้องให้รองรับได้มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เป็นจุดใหญ่ พอห้องแคบ บางทีการระบายอากาศอาจไม่ดี ก็เป็นจุดเล็กน้อยที่เอาไปปรับปรุงต่อได้ จุดใหญ่ๆ นั้นไม่มี

"ขอย้ำว่าจริงๆ แล้วปัญหาเรื่องเนกาทีฟคอนโทรลเป็นบวกจริงๆ ต้องหยุดและไม่อ่านผล แต่เนื่องจากข่าวหลุดออกไปทางโซเชียลก่อน จะบอกว่าเขาผิดพลาดก็ไม่ยุติธรรม โดยภาพรวมก็ทำได้ตามมาตรฐาน ส่วนจุดบกพร่องเราลงไปดูก็ช่วยแก้ไขและสนับสนุน" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ระหว่างที่แล็บยะลาปิดนั้น การตรวจเชื้อก็มีการส่งตรวจที่จ.สงขลา ซึ่งมีแล็บ 4 แห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) รพ.หาดใหญ่ และแล็บเอกชน สำหรับการเปิดตรวจอีกครั้ง ผอ.รพ.ยะลาจะพิจารณาว่าเปิดตรวจเมื่อไร แต่เมื่อเปิดแล้วเราจะส่งทีมไปเอาตัวอย่างมาตรวจยืนยันว่าตรงกันหรือไม่เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ส่วนอนาคตจะมีการเปิดแล็บที่ปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งกรมฯ ได้ส่งเครื่องตรวจไปแล้ว รอความพร้อมของบุคลากรเจ้าหน้าที่ก็คาดว่า กลาง พ.ค.จะสามารถเปิดได้ ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้การเดินทางอาจไม่สะดวก จึงควรจะต้องมีจังหวัดละเครื่องที่จะสามารถตรวจได้


เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้เนกาทีกคอนโทรลเป็นผลบวกเกิดจากอะไร นพ.โอภาสกล่าวว่า มีหลายสาเหตุ แต่ฟันธงชัดๆ ตอนนี้ไม่ได้ แต่เราก็เจอจุดปรับปรุงได้เล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างรวมกัน วิธีการตอนนี้จะทำความสะอาด เพราะตัวปนเปื้อนเป็นชิ้นส่วนสารพันธุกรรมเรียกว่าอาร์เอ็นเอ ไม่ใช่เชื้อโรคปนเปื้อน แต่เป็นอาร์เอ็นเอที่ไม่มีชีวิต ไม่ติดใคร ซึ่งเล็กมาก วิธีการคือทำความสะอาดให้หมดในห้องและเริ่มดำเนินการตรวจใหม่ คาดว่าใช้เวลาไม่นานก็จะกลับมาเปิดตรวจใหม่ได้ และจะตรวจคู่กันระหว่างแล็บยะลาและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลาว่าตรงกันหรือไม่

ถามต่อว่าปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องปรับปรุงเป็นสาเหตุทำให้ตัวควบคุม Negative Control ปนเปื้อนได้ใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า อะไรเป็นสาเหตุยังตอบไม่ได้ แต่ที่ระบุไปเป็นปัจจัยที่เราเห็นว่าปรับปรุงได้ ทำให้ดีกว่านี้ได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การตรวจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้เสมอ วิธีการมาตรฐานคือหาสาเหตุให้พบและป้องกัน

เมื่อถามว่าเคสที่ตรวจไปก่อนหน้านั้น รวม 311 เคสต้องตรวจใหม่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้ผ่านมา 4 วันแล้ว นักระบาดวิทยาอาจต้องไปดูในพื้นที่ใหม่ เช่น สบายดีอาจไม่ต้องตรวจ หรือคนนี้มีอาการอาจต้องตรวจซ้ำ ต้องดูเป็นรายๆ ไป แล็บเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง บอกว่าใครเป็นอะไรไม่ได้ ต้องดูประวัติคนไข้ ลักษณะการระบาดวิทยา และผ่านมา 4 วันแล้วก็เปลี่ยนไปหมด ถ้าติดเชื้อจริงก็อาจมีอาการแล้วก็ต้องไปทวนดู

ถามว่าโอกาสเกิดความผิดพลาดมีมากน้อยเท่าใดในการตรวจแล็บ นพ.โอภาสกล่าวว่า ค่อนข้างน้อยมาก เราตรวจไป 2.2 แสนครั้ง นี่ถือว่าเพิ่งเจอ แต่ย้ำว่านี่ไม่ใช่ความผิดพลาด มันเกิดการเออเรอร์ได้ ปกติทางแล็บทั่วไปแม่นยำ 95-98% ก็เก่งแล้ว ถ้าดูจากการที่เราตรวจไป 2 แสนกว่าตัวอย่างก็ถือว่าแม่นยำกว่า 99.9% ด้วยซ้ำ ในระบบไม่มีอะไรถูกร้อยครั้งหมื่นครั้งแสนครั้ง ต้องมีเออเรอร์ถึงต้องมีคิวซี หรือควอลิตีคอนโทรล (Quality Control) การมี Positive Control และ Negative Control ก็ถือว่าเป็นคิวซีที่ทำให้เราตรวจจับได้ ทั้งนี้ ยืนยันทุกแห่งได้มาตรฐานแต่ดำเนินการไปสักระยะก็ต้องลงไปตรวจดูว่ายังได้มาตรฐานหรือไม่

ถามต่อว่ายะลาต้องเพิ่มเครื่องมือในการตรวจด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ยะลาเครื่องมือมีเพียงพอ เพราะมี 2 เครื่องตรวจ คือ เครื่องหนึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งไปให้ และอีกเครื่องน่าจะเป็นท้องถิ่นจัดซื้อให้ เครื่องมือซื้อได้ แต่บางที รพ.ไม่ได้ดีไซน์ไว้เพื่อตรวจ จะให้ทุบห้องทำห้องใหม่ก็ยาก ส่วนใหญ่จึงเป็นห้องเก่าที่มาพัฒนา แต่ก็ต้องไปดูหน้างานว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม สำหรับเครื่องตรวจได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับรุ่น ซึ่งแตกต่างไป บางแล็บก็ตรวจครั้งละ 24 ตัวอย่าง หรือ 100 ตัวอย่างแล้วแต่รุ่นของเครื่อง แต่ทีมแนะนำว่าไม่ควรตรวจเกิน 200 ตัวอย่าง ซึ่งเครื่องตรวจได้ แต่คนทำงานอาจหนักเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น