xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ออกเพิ่ม 2 มาตรการแจกเงินบุคลากรแพทย์-ปล่อยกู้ SME จ่ายเงินเดือนพนักงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




"บัณฑูร" เปิด 2 มาตรการช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 "เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์" จ่าย 4,000 บาท 3 เดือนให้บุคลากรทางการแพทย์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 300 ล้านบาท และ "สินเชื่อดอกเบี้ย 0% รักษาคนงานของเอสเอ็มอี" ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กจ่ายเงินเดือนพนักงาน วงเงิน 1,000 ล้านบาท ชี้สถานการณ์ไม่ปกติ ทุกภาคส่วนควรช่วยกันเพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเกียรติคุณ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
กล่าวว่า ธนาคารได้เพิ่มมาตรการในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 2 มาตรการ โดยโครงการแรกมุ่งไปให้กลุ่มเสี่ยงที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าสกัดโรคไม่ให้ระบาด เพราะเป็นส่วนที่เสี่ยงภัยที่สุด เหนื่อยที่สุดไม่มีวันหยุดหากคนยังป่วยอยู่ จึงอยากมีส่วนร่วมด้วยโครงการ "เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์" เริ่มด้วยจุดที่มีความเสี่ยงสุดของประเทศในขณะนี้ได้แก่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล ที่มีแนวโน้มมีการระบาดรุนแรงกว่าส่วนอื่น

โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับสาธารณสุขของจังหวัด ครอบคลุมโรงพยายบาล 45 แห่ง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์นั้น นอกจากแพทย์ พยาบาลแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงผู้สัมผัสคนไข้ในรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น บุคลากรด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ขนส่ง เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด โดยในเบื้องต้นมูลนิธิกสิกรไทย สนับสนุนจะสนุบสนุนเงินจำนวน 4,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยได้สัดส่วนมากกว่า และในเบื้องต้นประเมินว่าจะช่วยได้ 20,000 คน ในระยะ 3 เดือน โดยมูลนิธิกสิกรไทยเตรียมงบประมาณไว้ 300 ล้านบาท

"โครงการไม่ได้เกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึกอะไร ไม่เคยได้รับ แต่เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้กำลังใจบุคลากรทางแพทย์ที่ทั้งเสี่ยงและเหนื่อยที่สุดในการต่อสู้ครั้งนี้ และอยากขอบคุณแทนคนไทยทั้งประเทศ แต่การแจกครั้งนี้จะไม่ผ่านใคร ถ้ามีบัญชีธนาคารกสิกรไทยก็โอนเข้า ถ้าไม่มีก็โอนพร้อมเพย์ ซึ่งขณะนี้ก็คุยกับทางสาธารณสุขจังหวัดถ้าจบแล้วก็เริ่มได้เลยปลายเดือนนี้"

ส่วนอีกโปรแกรมเป็นหน้าที่ของธนาคารโดยตรงกับธุรกิจประสบปัญหา โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่มีกำลังพอที่จะรับกับการสะดุดของเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งแม้จะมีมาตรการที่รัฐออกมาทั้งซอฟต์โลนต่างๆ แต่ธนาคารก็มองว่ายังต้องช่วยเพิ่มเติมโดยเฉพาะในส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่จะประคองกิจการ โดยมุ่งช่วยคนที่อยู่ข้างล่างที่สุดของธุรกิจ คือ พนักงานของเอสเอ็มอีที่จะต้องตกงาน เพราะเถ้าแก่ก็ไม่มีทุนจ่ายเงินเดือนต่อ พนักงานก็จะตกงาน จึงออกโปรแกรม "สินเชื่อดอกเบี้ย 0% รักษาคนงานของเอสเอ็มอี" โดยเงินกู้ก้อนนี้จะนำไปจ่ายเงินเดือนพนักงานให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีพนักงาน 0-200 คน ในจำนวน 8,000 บาทต่อเดือนในระยะเวลา 3 เดือน พักชำระหนี้ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาสินเชื่อ 10 ปี ซึ่งธนาคารเตรียมเงินไว้สำหรับโครงการนี้ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 1,000 ราย ช่วยพนักงานได้กว่า 40,000 คน ซึ่งโปรแกรมนี้ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของธนาคารเดิมมีผลประกอบที่ดีมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และใช้บัญชี Pay Roll กับธนาคารด้วย

โครงการนี้ก็เพี่อช่วยรักษาเอสเอ็มอีที่มีผลประกอบการที่ดี แต่เจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เหตุสุดวิสัยอย่างนี้ ให้ซื้อเวลารอเมื่อปัญหาผ่านพ้นก็จะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ เพราะถ้าธุรกิจดีๆ จะต้องหายไปเพราะเหตุแบบนี้ก็จะน่าเสียดาย และจะปล่อยให้แก่ลูกค้าธนาคารเพราะเรามีลูกค้าเอสเอ็มอีมาก และเราเห็นประวัติ รู้จักกันมาก่อนอยู่แล้ว ใน 1,000 รายนี้ก็มีที่เห็นๆ อยู่แล้ว การจ่ายเงินก็จะสะดวกโปร่งใสเพราะโอนเข้าบัญชีพนักงานโดยตรงผ่านธนาคาร

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า สินเชื่อที่ปล่อยไปในขณะนี้มีความเสี่ยงสูงเพราะว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างโครงการเอสเอ็มอีนี้ปล่อยไปเท่าไหร่ก็สำรองทันที แต่ถ้าเรามองแบบเดิมๆ ที่ว่าความเสี่ยงสูงขึ้นแบงก์เลยไม่ปล่อยกู้ ก็คงจะแย่กันหมด เพราะอันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงทำอย่างปกติไม่ได้ ก็ต้องยอมเสียประโยชน์ระยะสั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ในระยะยาวเป็นเรื่องของความยั่งยืน เพราะถ้าไม่แก้เรื่องเฉพาะหน้า ระยะยาวก็ไม่มีเหมือนกัน ก็จะต้องปล่อยสินเชื่อให้เพื่อซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพรอ เมื่อแก้โรคได้ การค้าขายเกิดขึ้นเขาก็จะไปต่อไป

"ตอนนี้ถือเป็นช่วงสงคราม สงครามจากเชื้อโรค จะคิดแบบเดิมทำแบบเดิมไม่ได้ ครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่โครงสร้างของสถาบันการเงินยังดีอยู่ขั้นหนึ่ง จึงยังมีกำลังที่จะช่วยแต่ก็มีขอบเขตในการช่วยเหมือนกัน อย่างสินเชื่อที่ปล่อยในช่วงนี้ก็ทำใจไว้ระดับหนึ่งแล้วว่าเป็นหนี้เสียก็ยังปล่อย เพราะต้องช่วยกันในยามสงคราม แม้กำไรของธนาคารปีนี้จะเป็น 0% เพราะต้องนำไปตั้งสำรองเพิ่ม ถ้าถามผมผมรับได้ แต่ต้องอย่าให้ลามไปถึงทุนก็แล้วกัน ดังนั้น จึงต้องมีการคำนวณให้ดี ต้องมีขีดจำกัด และเงินที่ควักออกไปจะต้องดูให้มีประสิทธิผลให้มากที่สุด ตรงวัตถุประสงค์ที่สุดไม่อย่างนั้นก็จะน่าเสียดาย และเป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนที่ยังมีกำลังควรจะเข้ามาช่วยกัน"

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเองก็จะต้องมีการปรับตัวยกระดับทางด้านองค์ความรู้เพื่อให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้ในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยมีปัญหาในด้านนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อหมดปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้ไปแล้วก็จะต้องคิดข้ามต่อไปด้วยว่าจะสามารถแข่งขันได้อย่างไรในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น