เพจ “หมอแล็บแพนด้า” ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวห้องแล็บ รพ.ยะลา รายงานผลผู้ป่วยโควิด-19 ผิดพลาด อาจจะเกิดมาจาก 3 ปัจจัย อย่างไรก็ตาม พร้อมเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์สู้กับไวรัสนี้ต่อ
จากกรณีพบผู้ป่วยเข้าข่ายส่อติดเชื้อโควิด-19 ใน อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งข่าวสุดสับสน 40 รายที่ จ.ยะลา ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เผยแล็บ-1 รพ.ยะลา ระบุทั้งหมดเป็น ‘บวก’ แล็บ-2 ศูนย์วิทย์สงขลายันทั้งชุดเป็น ‘ลบ’ สุดท้ายขอเก็บสารคัดหลั่งใหม่แล้วส่งทวนสอบให้จบที่แล็บ-3 ของ “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ในส่วนกลาง ทั้งนี้ มีรายงานว่า ครื่องตรวจโควิด-19 ของ ร.พ.ศูนย์ยะลาไม่ได้เออเรอร์ แต่น่าจะไม่เสถียร คาดผลบวกมาจากเชื้อเก่าค้างในเครื่อง เลิกใช้หันกลับไปส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เหมือนเดิม นอกจากนี้ นายสาทิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่ต้องส่งผู้ป่วยต้องสงสัย 40 รายที่ยะลา ตรวจซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ที่ส่วนกลาง เหตุ 140 แล็บทั่วประเทศก็ตรวจได้เหมือนกัน ชี้ผลตรวจที่แล็บ จ.สงขลา ผลออกมาเป็นลบทั้งหมด เผยส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบเครื่องที่ยะลาแล้วเพื่อหาข้อผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพจ “หมอแล็บแพนด้า” ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าความผิดพลาดจากการตรวจโรคนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะเกิดมาจาก 3 ขั้นตอนนี้
“1. Pre-analytic หรือขั้นตอนก่อนตรวจแล็บ เช่น การเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและลำคอไม่ถูกต้องตามหลักการ ไม่เปลี่ยนถุงมือ ทำความสะอาดไม่ดี เขียนชื่อสลับกัน
2. Analytic หรือขั้นตอนการตรวจแล็บ ซึ่งการตรวจแล็บนั้นในการตรวจ PCR หรือการตรวจเกี่ยวกับดีเอ็นเอ เป็นที่รู้กันว่ายุ่งยาก มีหลายขั้นตอน ทั้งขั้นตอนสกัดดีเอ็นเอ การเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอ และการอ่านผล
ทุกขั้นตอนต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เชื้อจะปนเปื้อนง่ายมากๆ จากหลอดที่เป็นลบหรือไม่มีเชื้อก็อาจจะทำให้ให้บวกได้ เพราะดีเอ็นเอมันกระจายไปตกหล่นใส่หลอดอื่นๆ แต่เรามีตัวช่วยในการทำแล็บให้ถูกต้อง ซึ่งหัวใจของการตรวจแล็บก็คือน้ำยาควบคุม หรือที่เราเรียกว่าคอนโทรล มันแปลว่าแบบนี้ครับ
“น้ำยาควบคุม” คือตัวอย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่าผลมันเป็นยังไง จะมีน้ำยาที่ให้ผลบวก และน้ำยาที่ให้ลบ ถ้าน้ำยาที่เรารู้ผลล่วงหน้าอยู่แล้วเนี่ย เครื่องมันยังแปลผลไม่ถูก เราห้ามรายงานผลการตรวจเด็ดขาด คอนโทรลลบกลับกลายเป็นบวก จากบวกกลายเป็นลบ ให้ถือว่าผลการตรวจทั้งชุดนั้น เสียทั้งหมด
3. Post-analytic หรือขั้นตอนหลังการตรวจแล็บ เช่น ตรวจถูกแต่รายงานผลผิด โอกาสผิดพลาดเกิดได้ทุกขั้นตอน แต่หากโรงพยาบาลได้ทำตามระบบมาตรฐานแล้ว ก็คงไม่มีอะไรน่ากังวลใจ ส่วนกรณีของห้องแล็บ จ.ยะลา ผมเพิ่งได้อ่านเฟซของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งหมอโพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า
“เหตุที่ห้องแล็บ รพ.ยะลา รายงานผลเป็นบวกนั้น เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เข้าใจว่าเกิดจากการปนเปื้อนของไวรัสโควิดในระบบเครื่องตรวจ RT- PCR ทั้งนี้ ในการตรวจพบว่า หลอดที่เป็นน้ำไม่มีตัวเชื้อ ที่เป็นตัว control (No Template Control) ซึ่งในการเดินเครื่อง PCR ทุกรอบก็ต้องมีการ control ด้วย NTC เสมอ นั้น ที่แล็บยะลาผลการทดสอบของ NTC เป็นบวกด้วย ซึ่งบอกถึงการปนเปื้อน จึงทำให้ไม่อาจตัดสินได้ว่า ผลการตรวจนั้นเป็นผลบวกจริง (true positive) หรือผลบวกลวง (false positive) จึงต้องตรวจใหม่ทั้งหมด”
ถ้าหมอสุภัทรโพสต์เป็นข้อเท็จจริง แปลง่ายๆ ว่า ผิดขั้นตอนที่ 2 หรือขั้นตอนตรวจแล็บนั่นเอง แต่ก็น่าแปลกใจ ถ้าคอนโทรลลบกลายเป็นบวก ทางแล็บก็ไม่น่าจะรายงานผลออกมาสู่สาธารณชนได้ ต้องตรวจแล็บใหม่ทั้งหมดนะครับ ยังไงก็ตามกรณีนี้จะรู้ว่าถูกหรือผิด ให้รอยืนยันจากแล็บที่ 3 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กรุงเทพฯ อีกที เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายนะครับ”