xs
xsm
sm
md
lg

ชงศบค.ผ่อนปรน4กลุ่มกิจการ-เกษตรกรแห่ลงชื่อรับแจก5พัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - คกก.โรคติดต่อ เห็นชอบแนวทางผ่อนปรนกิจการ 4 กลุ่ม ชง ศบค.เคาะควรเปิดหรือไม่ต่อไป พร้อมไฟเขียวแนวทางตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงอัตรา 5 พันรายต่อ 1 ล้านคน เผยตรวจทั้งแบบครอบคลุมทั้งหมดและแบบสุ่ม ศบค. พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 9 ราย ต่ำสิบเป็นวันที่ 3 ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยรวม 2,947 ราย หายกลับบ้าน 2,665 ราย ส่วน กทม. ไฟเขียว สั่งปลดล็อก 8 กิจการ ยังไม่ระบุวัน ต่ออายุปิดผับ-บาร์ ถึง 31 พ.ค.นี้ ก.เกษตรฯ เร่งเกษตรกรขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยาภายใน 15 พ.ค. 63 กระทรวงเกษตรฯ เร่งเกษตรกรลงทะเบียนลงทะเบียนรับเงิน 15,000 บาท

วานนี้ (29 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางและมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยวว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการ เรื่องแนวทางผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มมีความเสี่ยงต่ำและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด ร้านอาหารที่เปิดลโล่ง ร้านตัดผม ฯลฯ 2.กลุ่มที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากและต่อเศรษฐกิจและสังคม หากจะเปิดต้องมีเงื่อนไข เช่น ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น 3.กลุ่มที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา และ 4.กลุ่มมีความเสี่ยงสูง อาจมีความแออัด คับแคบ ทึบ มีการสัมผัสใกล้ชิด ตะโกน กระแทกกระทั้นกัน หลักการคือไม่ควรเปิด

"การเห็นชอบแนวทางฯ ก็มอบให้กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ประสานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งจะเสนอไปทันที ส่วนการจะประกาศกิจการอะไรเปิดก่อนเปิดหลังหรือเปิดเมื่อไร จะต้องรอทาง ศบค.ประกาศ" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแนวทางการเฝ้าระวังโดยการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง โดยเพิ่มอัตราการตรวจให้ได้จาก 2,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ภายใน พ.ค.นี้ เนื่องจากเราเข้าสู่ระยะผ่อนปรนจึงจำเป็นต้องค้นหาหรือรับทราบว่ามีคนที่มีอาการน้อยๆ หรือไม่มีอาการ แต่มีการติดเชื้ออยู่หรือไม่ โดยกลุ่มคนที่จะตรวจ คือ บุคลากรทางการแพทย์ คนที่ทำอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานส่งอาหารดิลิเวอรี ส่งไปรษณีย์ พนักงานขับรถโดยสาร แรงงานต่างด้าว

ส่วนสถานที่เสี่ยง เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง ชุมชนแออัด ทั้งในเขตเมืองและบางพื้นที่ โดยจะมีการตรวจทั้งแบบครอบคลุม 100% หรือตรวจแบบสุ่ม ทำให้เมื่อเวลาผ่อนปรนโอกาสที่คนออกนอกบ้านมากขึ้น ไปมีกิจกรรมในสังคมมีโอกาสไปสัมผัสกับคนที่มีอาการน้อยๆ แล้วนำมาสู่การแพร่ระบาดลดลงไป

สำหรับวิธีการตรวจ คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อ ด้วย RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และเสริมด้วย RT-PCR จากน้ำลายส่วนลึกในลำคอ เพราะบางพื้นที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก เช่น พื้นที่มีแรงงานต่างด้าวเยอะ มีเป็นหลักพันหลักหมื่นคนก็จะเอาการตรวจน้ำลายส่วนลึกในลำคอมาเสริม เพื่อลดเวลา อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ยังจะใช้การตรวจ RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกเช่นเดิม ขณะนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น กทม. 3 จังหวัดชายแดนใต้ และบางพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวเยอะอย่างสมุทรสาคร เป็นต้น

เจอโควิดใหม่ 9 ราย ต่ำสิบวันที่ 3

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ 9 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม13 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,947 ราย กลับบ้านรวม 2,665 ราย เสียชีวิตรวม 54 ราย ยังรักษาในรพ. 228 ราย ถือว่าต่ำกว่าสิบรายเป็นวันที่ 3

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่9 รายนั้น ได้แก่ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 6 ราย ที่กทม. 3 ราย ภูเก็ต 3 ราย โดยอยู่ในครอบครัวเดียวกันถึง 2 คน 2. อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 1 คน 3. บุคลากรทางการแพทย์ 2 คน ทั้งนี้ กระจายอยู่ใน ภูเก็ต 4 คน กทม. 3 คน และสมุทรปราการ 2 คน จังหวัดที่ไม่มีรายงานเลยมี 9 จังหวัดตามเดิม โดยไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน มี 16 จังหวัด มีเพิ่มเติม คือ สระบุรี ศรีสะเกษ และหนองบัวลำภู ส่วนไม่มีผู้ป่วย 14 วันมี 35 จังหวัด

ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุ 0-14 ปี พบว่า มี 88 ราย คิดเป็น 3% ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย เป็นคนไทย 90% อายุต่ำสุดคือ 1 เดือน เฉลี่ยอายุช่วง 0-4 ขวบ ส่วนเด็กเล็ก เด็กวัยปฐม และอายุ 10-14 ปี มีพอๆ กัน สำหรับการติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 85.4% ประวัติเดินทางจากต่างประเทศ 3.4% จังหวัดที่พบมากคือ ภูเก็ต ยะลา และ ปัตตานี ติดจากพ่อแม่มากที่สุด 45% บุคคลร่วมบ้าน 24% ญาติ 8% ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องดูแลลูกใกล้ชิดนั้นจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รายงานว่า แม่ที่ติดเชื้อ หรือลูกติดเชื้อนั้น การติดเชื้อไม่ได้ผ่านน้ำนมแม่ แม่ป่วยให้นมลูกได้ แต่ต้องป้องกันหลายวิธี อาจปั๊มนมไว้ แล้วให้นมลูก หรือให้เอง แต่ต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างดี เน้นล้างมือ และเว้นระยะห่าง ส่วนการกินนมผงแทนนั่้นไม่แนะนำ อย่าเปลี่ยนจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เด็กไม่ได้ภูมิคุ้มกัน แต่หากแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขอให้ประสานบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข จะมีทีมเข้าไปช่วยเหลือ

นายกฯ ชื่นชมความร่วมมือจากประชาชน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชื่นชมความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ที่ตระหนักและให้ความร่วมมือปฎิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมขอบคุณและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียลสะอย่างเข้มแข็ง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่าสิบมาต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ถือเป็นผลงานร่วมกันของทุกคน

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ฯ จะดีขึ้นตามลำดับ แต่ขอให้ประชาชนยังคงให้ความร่วมมือปฎิบัติตามมาตรการป้องกันฯ อย่างเคร่งครัด และให้ตระหนักเตือนตัวเองอยู่เสมอ

สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในภาวะความเครียด นายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงความเดือดร้อน ขอให้คนในครอบครัวช่วยกันสอดส่องดูแล พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ละพื้นที่ ดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงให้คำแนะนำกลุ่มประชาชนเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยกันหาทางออก ยืนยันรัฐบาลจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ทอดทิ้งใคร ขอให้มั่นใจว่าเราจะผ่านเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน

กทม. ไฟเขียว สั่งปลดล็อก 8 กิจการ

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อเห็นชอบให้อนุมัติผ่อนปรน 8 สถานที่ แต่ยังไม่ระบุวัน รอประกาศพร้อม ศบค. ขณะเดียวกันได้ต่ออายุมาตรการปิดผับ บาร์ หรือสถานที่ความเสี่ยงสูงต่อถึง 31 พ.ค. โดยทั้ง 8 สถานที่ กรุงเทพมหานครเตรียมปลดล็อก มีดังนี้

1. ร้านอาหารทั่วไป แบบที่นั่งที่ร้านได้แต่ต้องจัดระยะที่นั่งห่างกัน 1.5 -2 เมตร ยกเว้นร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และไม่อนุญาตให้จำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงต้องปิดร้านตามเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เวลา 22.00-04.00 น.

2. ตลาดและตลาดนัด ขายสินค้าได้ทุกประเภท

3. สถานที่ออกกำลังกาย รวมถึงศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครจะเปิดบริการให้เข้าไปออกำลังกาย แต่ต้องเป็นกีฬาที่มีระยะห่างกัน ไม่ใกล้ชิด อาทิ เดิน วิ่ง สนามแบดมินตัน เทนนิส เทเบิลเทนนิส ส่วนกีฬาประเภททีม อาทิ ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ฟุตซอล ไม่อนุญาต

4. สวนสาธารณะ ให้ใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนได้ แต่ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์หรือนั่งรับประทานอาหาร

5. ร้านตัดผม-เสริมสวย อนุญาตให้บริการได้เฉพาะ ตัด-สระ-ไดร์ เท่านั้น โดยให้โทรจองคิวไม่อนุญาตให้นั่งรอ และต้องหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง รวมถึง ช่างทำผมต้องใส่หน้ากากและเฟซชิลด์ด้วย

6. ร้านตัดขนสัตว์และคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ นำสัตว์เข้าร้านได้ 1คน/1ตัว และหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง

7. โรงพยาบาล คลินิกและสถานพยาบาล

8. สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อม

ทั้งนี้ 8 สถานที่ต้องมีมาตราการป้องกันอย่างเข้มงวด วัดอุณหภูมิ สวมใส่หน้ากากอนามัยล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนเข้าสถานที่ และจัดระยะห่างระหว่างบุคคล 1.5-2 เมตร หากไม่ปฏิบัติตามาตรการนี้จะสั่งปิดทันที

เร่งเกษตรกรขึ้นทะเบียนรับเงิน 1.5 หมื่น

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขอให้รีบมาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรับผิดชอบ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง และหน่วยงานที่มีการขึ้นทะเบียนอื่นๆ ทั้งยางพารา หม่อนไหม อ้อยโรงงาน ยาสูบ และนาเกลือ โดยด่วนตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 พ.ค.63 เพื่อป้องกันการตกหล่นในการรับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐบาล แต่หากเกิดกรณีเกษตรกรร้องเรียนว่าเป็นผู้ตกหล่นจะมีการเปิดช่องทางอุทธรณ์ต่อไป

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายขอรมว.เกษตรและสหกรณ์ และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.63 รวมวงเงินของโครงการ 150,000 ล้านบาท

เกษตรกรแห่ขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยา

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา มีกลุ่มเกษตรกรทั้งรายใหม่ และรายเก่า ไปรอขึ้นทะเบียน และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกันอย่างเนืองแน่น ทำให้บัตรคิวช่วงเช้า 100 คนแรก หมดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนที่เหลือต้องรอในรอบบ่าย ทั้งนี้พบว่า บางรายยีงมีปัญหาในเรื่องของเอกสารที่เตรียมมาไม่พร้อม เจ้าหน้าที่ต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจ เพราะสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มทางแอปพลิเคชันได้ และรวบรวมผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่เพื่อจัดส่งข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่



กำลังโหลดความคิดเห็น