ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. แตะระดับ 78.4 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนหลังรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์และมาตรการรัฐต่างๆ ที่ออกมา แต่เชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าลดลง และมีปัจจัยต่างๆ ที่กังวลเพิ่มขึ้น ทั้ง ศก.โลก การเมือง ค่าเงินบาท
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 78.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.9 ในเดือนเมษายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมถึงการผ่อนคลายการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) จากเดิมเวลา 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น. ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (ธปท.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50% ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุนและการจ้างงาน ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดย่อมประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,157 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ประกอบการ 71.2% มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และสงครามการค้า, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 47.7%, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 43.4% และราคาน้ำมัน 32.5% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลงคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 17.6%
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 91.5 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.8 ในเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในระยะต่อไปจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ดี
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. เร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 5 แสนล้านบาท รวมทั้งให้ บสย.ช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการ SMEs 2. ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และ 3. ผลักดันให้ทุกหน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ Online ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ