จับตาท่าทีประชุม กกร.วันที่ 10 มิ.ย. หนุนรัฐบาลไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP หวั่นไทยตกขบวนเหตุตลาดใหญ่ ส.อ.ท.และสภาหอการค้าไทยประสานเสียงนำร่องหนุนเจรจาก่อนเข้าร่วมเป็นสมาชิกหวังไม่ให้เสียโอกาส พร้อมประเมินทิศทาง ศก.ครึ่งปีหลัง จับตาบาทแข็งค่าหวั่นซ้ำเติมโควิด-19 กระทบส่งออกและท่องเที่ยวหวัง ธปท.ออกมาตรการดูแล
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) ที่มีสมาคมธนาคารไทยทำหน้าที่ประธาน วันที่ 10 มิ.ย.นี้จะหารือจุดยืน กกร.ต่อบทบาทของรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เบื้องต้นคาดว่าจะสนับสนุนให้เข้าร่วมเจราเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาส
“กกร.ก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำรายละเอียดและแนวทางมาเสนอมาอีกครั้ง ที่ประชุม กกร.คงจะต้องมาหารือและพิจารณาจากผลการศึกษาแต่เบื้องต้นท่าทีคือการสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจาเป็นหลักจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่อย่างไร” นายสุพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือถึงภาวะเศรษฐกิจไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 63 )ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และการที่รัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) มาจนสู่เฟส 3 และกำลังเข้าเฟส 4 คาดว่าจะเริ่มทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น ดังนั้น คาดว่า กกร.จะยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ที่จีดีพีจะเป็น -5.0% ถึง -3.0% ส่งออก -10.0% ถึง -5.0%
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เคยมีมติภายในองค์กรที่จะสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP หลังจากที่ไทยหลุดขบวนการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำแต่ภายหลังปรับมาเป็น CPTPP ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ดังนั้น ส.อ.ท.ได้หารือและเห็นว่าไทยควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP ก่อนแล้วค่อยพิจารณาการเป็นสมาชิกได้เพื่อไม่ให้ไทยหลุดขบวนและเสียโอกาสการรับรู้ท่าทีเพราะต้องเข้าใจว่าสมาชิก CPTPP ที่มีอยู่ปัจจุบัน 11 ประเทศตลาดค่อนข้างใหญ่มาก
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ยอมรับว่าถดถอยตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อทั้งของไทยและต่างประเทศลดต่ำลง แต่สิ่งที่เพิ่มความกังวล คือ ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น โดยขณะนี้ยืนอยู่ในกรอบราว 31-31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลลบต่อศักยภาพการแข่งขันการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทย ดังนั้นจึงคิดว่าเป็นจุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องกลับมาพิจารณามาตรการดูแลระยะสั้น
“เราต้องยอมรับว่าจีดีพีของไทยที่ผ่านมาเราพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการส่งออกอย่างมาก แต่ปีนี้รายได้ท่องเที่ยวตรงจากต่างประเทศที่มีมูลค่าราว 1.9 ล้านล้านบาท น่าจะหายไปราว 75% ก็ย่อมกระทบเห็นได้ชัด เมื่อบาทแข็งค่าอีกก็ยิ่งกระทบซ้ำเติมเข้าไป ซึ่งค่าเงินบาทของไทยพบว่ามาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่ม และการโอนเงินเข้ามาของคนไทยในต่างประเทศผ่านรูปแบบต่างๆ” นายเกรียงไกรกล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเข้าร่วมการเจรจา CPTPP แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ แต่การไม่เข้าร่วมเจรจาเลยถือเป็นการเสียโอกาสของประเทศ ซึ่ง กกร.ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมหารือเพื่อมีมติร่วมกัน และทำให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหลังจากที่ได้มีการประชุมทบทวนร่วมกันมาแล้ว 2 ครั้งก่อนที่จะเสนอให้รัฐบาลเป็นข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจต่อไป