ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าพุ่งขึ้น 21 % นักลงทุนคาดหวังการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังการคลายล็อกดาวน์
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนมิถุนายน 2563 โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว(Neutral) โดยเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ระดับ 96.93 จากระดับ 80.40 ในการสำรวจครั้งก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสสอง รวมถึงการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 และการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง
ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และ หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
นายไพบูลย์กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วอยู่ในช่วงการเริ่มฟื้นตัว โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวขึ้น 3% แต่ยังติดลบ 15 % นับตั้งแต่ต้นต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนรอดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการคลายล็อกดาวน์ ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นเคลื่อนไหวแคบๆ โอกาสที่ดัชนีปรับตัวขึ้นแรง หรือ ปรับตัวลดลงแรงมีไม่มาก เชื่อว่าดัชนีมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นทดสอบระดับกว่า 1,400 จุด
ส่วนการเมืองในประเทศ ที่อาจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ หลังจากที่จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐใหม่นั้น มองว่า ไม่ได้มีน้ำหนักต่อการลงทุนมากนัก เนื่องจากเป็นปกติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และเสถียรภาพของรัฐบาลมีความมั่นคงดี แต่หากจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี อยากได้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความสามารถด้านเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัว ดังนั้นต้องการคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยกลับเข้าสู่ปภาวะปกติ เห็นจากสัญญาณที่นักลงทุนกลับมาให้ความสนใจหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีเรทติ้งกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) ขายได้หมด อย่างไรก็ตามพบว่ามีบริษัทจดทะเบียน 9 บริษัท ที่ขอยืดเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ไป 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อรอสภาพคล่องจะกลับมาเพิ่มเติมหลังจากการคลายล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19
ด้านดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนพฤษภาคมนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43 สูงขึ้นจากครั้งที่แล้วมาอยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนมิถุนายนนี้ กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 จากปัจจัยหลักคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มติดลบ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และ การไหลออกสุทธิของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ