กกร.มองระยะเวลาที่เหลือของปี 2563 ศก.โลกยังอ่อนแรงหลังหลายประเทศเผชิญการกลับมาระบาดโควิด-19 รอบ 2 ส่งผลให้ ศก.ไทยยังถดถอยต่อเนื่อง คงกรอบเติบโต ศก.ปีนี้ -7% ถึง -9% ส่งออก -10% ถึง -12% เดือนหน้ารอประเมินใหม่อีกครั้ง จี้รัฐเร่งจ่ายเงินผู้ประกอบการรับเหมาโครงการรัฐภายใน 30 วันเพื่อเสริมสภาพคล่อง จับตาชุมนุมประท้วง 19 ก.ย.ใกล้ชิด หากเลยเถิดซ้ำเติม ศก.
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกหดตัว หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 หลายประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น หากไทยควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม ที่ประชุม กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดไตรมาส 2 แต่ปัจจัยเสี่ยงยังมีจึงยังคงกรอบประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจปี 2563 อยู่ในกรอบ -7% ถึง -9% การส่งออก -10% ถึง -12% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1% ถึง -1.5% และจะมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้งภายในเดือนหน้า
"เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นนัก โดยต้องลุ้นเพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการระบาดรุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน แม้เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวแต่ยังเปราะบาง การส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังมีอุปสรรคมาก ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า" นายผยงกล่าว
นายผยงกล่าวต่อว่า แม้ภาคครัวเรือนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาว โรงแรม ที่พัก รีสอร์ตตามแหล่งท่องเที่ยวหลักเต็มแทบทุกแห่ง หลังจากคลายล็อกกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังอ่อนแอมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน ทั้งนี้ ยอมรับว่าตลาดแรงงานยังน่าเป็นห่วง เพราะมีผู้ว่างงานกว่า 700,000 คนสิ้นไตรมาส 2 โดยเป็นยอดผู้มีงานประจำแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.เสนอค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากการปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่ม Max Claim จาก 30% เป็น 50% เพื่อให้แบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท.ที่มีอยู่ 500,000 ล้านบาท ปล่อยสู่ระบบมากขึ้น ที่ประชุม กกร.ยังเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเดินหน้าศึกษาเจรจาเรื่องการเข้ากลุ่ม CPTPP เพื่อเร่งสรุปข้อดี ข้อเสีย เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่ควรเร่งตัดสินใจ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.เสนอผ่อนปรนเบิกจ่ายเงินของโครงการภาครัฐ สำหรับผู้ประกอบการผู้รับเหมาโครงการจากภาครัฐเมื่อก่อสร้างเสร็จส่งมอบงานเสร็จแล้ว ขอให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของโครงการของภาครัฐภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานภาครัฐทุกประเภทสามารถโอนสิทธิ์การรับเงินให้กับธนาคารได้ด้วยเพื่อเติมสภาพคล่องให้แก่ภาคเอกชน เพราะเดิมต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือนกว่าจะได้รับเงิน แม้การรับเหมาจะดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับเงินนำไปใช้หมุนเวียนมากขึ้น
“เอกชนเองติดตามการชุมนุมประท้วงวันที่ 19 กันยายนนี้ หากอยู่ในกรอบกฎหมายไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ภาคเอกชนจะสบายใจ แต่หากยืดเยื้อชุมนุมต่อเนื่องอาจกกระทบต่อความเชื่อมั่น โดย กกร.ยึดหลักในระบบประชาธิปไตยจึงอยากให้ชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันฟื้นเศรษฐกิจที่หดตัว ทั้งแก้ปัญหาแรงงาน โดยหาช่องทางรับนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำและการเติมทุนให้แก่เอสเอ็มอี” นายสุพันธุ์กล่าว