xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยภาคการผลิตเริ่มฟื้น หลังดัชนีอุตฯ ขยับขึ้น 3 เดือนต่อเนื่อง ชงรัฐขยายมาตรการช่วย SMEs ถึงสิ้นปี เร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 82.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 80.0 ในเดือนมิถุนายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ พบว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ทำให้กิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น งาน Motor Show และโปรโมชัน Mid Year Sale เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 และยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,211 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 51.8, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 38.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 22.0 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 67.9 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 44.3

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.0 โดยเพิ่มขึ้นจาก 90.1 ในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นทุกองค์ประกอบ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าภาคการผลิตเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตยังต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากยังมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1. เสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น การพักหนี้ ลดเงินนำส่งประกันสังคม เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ
2. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น