ส.อ.ท. สภาหอฯ สมาคมธนาคารไทย หรือ “กกร.” นัดหารือวันที่ 4 มี.ค.นี้ เตรียมวิเคราะห์ผลกระทบและมาตรการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังส่งสัญญาณชัดเจนฉุดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคลัสเตอร์ท่องเที่ยววิกฤตหนัก ด้านกลุ่มยานยนต์รับยอดผลิตรถปีนี้ 2 ล้านคันส่อหลุด คาดหวัง 6 เดือนทั่วโลกคุมอยู่
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่ตนทำหน้าที่ประธานการประชุม วันที่ 4 มีนาคมนี้จะหยิบยกประเด็นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 มาหารือ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ค่อนข้างมาก จำเป็นจะต้องมีมาตรการรองรับปัญหา
“คงจะต้องหารือถึงผลกระทบในภาพรวม ซึ่งขณะนี้เบื้องต้น กกร.อยู่ระหว่างการรวบรวมผลกระทบ ซึ่งจะรวมไปถึงมาตรการที่จะนำเสนอภาครัฐเพิ่มเติมในการดูแลเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามมาตรการภาครัฐที่จะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ว่าจะออกมาตรการมาอย่างไรประกอบด้วย ซึ่งภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา แต่ทุกอย่างต้องร่วมมือกันหลายๆ ด้าน” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ เดือน ม.ค. 63 กกร.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 จากเดิมโต 2.5-3% เหลือ 2-2.5% แต่คงการส่งออกคาดว่าจะเติบโตระดับ 0-ติดลบ 2% และเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 8-1.5% ซึ่งยอมรับว่าจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ลุกลามไปหลายประเทศจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงอีก แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรจะขอหารือในที่ประชุม กกร.อีกครั้งเนื่องจากต้องประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไปรวมถึงมาตรการรัฐที่ออกมาด้วย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน ส.อ.ท.และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอมรับว่าโควิด-19 มีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้การแพร่ระบาดได้ลามไปหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ซึ่งกลุ่มฯ ยังคาดหวังว่าการแพร่ระบาดทั่วโลกโดยเฉพาะจีนจะสามารถควบคุมและจบได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน
“ขณะนี้การจ้างงานในกลุ่มยานยนต์ยังปกติไม่มีแผนที่ลดคนแต่อย่างใด เพราะเราคาดหวังว่า 6 เดือนน่าจะควบคุมได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ติดเชื้อในจีนมีอัตราลดลงต่อเนื่องแล้ว แต่ยอมรับว่าระยะสั้นที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบต่อยอดผลิตรถยนต์ที่ทั้งปี 63 ตั้งเป้าไว้ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคันให้ลดลงได้ เพราะกำลังซื้อภาพรวมได้รับผลกระทบเพราะเศรษฐกิจถดถอย แต่จะลดมากน้อยคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะจบเมื่อไหร่” นายสุรพงษ์กล่าว