กกร.หั่นเป้า ศก.ปี 2563 รอบที่ 3 โตเหลือแค่ 1.5-2% คงส่งออก -2 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0.8-1.5% เหตุโควิด-19 ลามทั่วโลก โดยตั้งบนสมมติฐานจบภายใน มิ.ย. ยอมรับว่าถ้ายืดเยื้อถึงสิ้นปีติดลบสูง ต้องเกาะติดใกล้ชิด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.มีมติปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2563 ลงอยู่ที่ 1.5-2% จากเดิมคาดการณ์ไว้โต 2-2.5% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแต่ยังคงอัตราการส่งออก -2 ถึง 0% และคงเงินเฟ้อ 0.8-1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยตัวเลขทั้งหมดอยู่บนสมมติฐานที่โควิด-19 จะจบภายใน มิ.ย. 63
"นับเป็นครั้งแรกที่ กกร.ทำการปรับลดเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากเดิมจะทบทวนไตรมาสละครั้งเนื่องจากปัจจัยต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่ง กกร.เดือนที่ผ่านมาได้ลดคาดการณ์จีดีพีไว้อยู่ที่ 2-2.5% และครั้งนี้ก็ลดลงอีก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีเศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบ แต่ กกร.คาดหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเพราะล่าสุดจีนมีผู้ป่วยติดเชื้อลดลง" นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ กกร.อยู่ระหว่างการรวบรวมมาตรการที่จะเสนอต่อภาครัฐในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจวันที่ 6 มี.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ ครม.เศรษฐกิจให้เข้มการประชุม โดยเบื้องต้นมาตรการที่จะเสนอ เช่น เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ลดค่าไฟฟ้าให้เฉพาะธุรกิจ SMEs และบ้านพัก ลง 5% เป็นระยะเวลา 1 ปี เร่งรัดการคืนภาษี VAT ให้รวดเร็วภายในเวลา 30 วัน การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อการผลิตซึ่งประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ ลงเหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี ลดการจ่ายเงินประกันสังคมของผู้ประกันตน ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ลง 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเดิมที่เคยเสนอไปแล้ว
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปกติจีดีพีของไทยจะขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่ขณะนี้ยังไม่รู้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยืดเยื้อแค่ไหน เราจึงได้แต่เพียงหวังว่ามาตรการควบคุมและดูแลสถานการณ์จากภาครัฐ พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจในประเทศอาจเป็นผลดีช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้าน ทุกอย่างต้องทำให้เกิดความสมดุลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ไม่ใช่เกิดด้านใดด้านหนึ่ง