“กกร.” ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ใหม่จีดีพีเหลือเป็น -8% ถึง -5% ส่งออก -10% ถึง -7% หลังประเมิน ศก.ไตรมาส 2 จะหดตัวสู่ตัวเลขสองหลัก เหตุโควิด-19 ต่างประเทศไม่ดีส่งผลทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ขณะที่ในประเทศแรงซื้อยังตกต่ำ
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 ทั้งปีเป็น -8% ถึง -5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ -5% ถึง -3% การส่งออกเป็น -10% ถึง -7% จากเดิมคาด -10% ถึง -5% และเงินเฟ้อคาด -1.5% ถึง -1% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน และคาดว่าไตรมาส 2/2563 น่าจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก
"แม้ไทยจะคลายล็อกดาวน์ทำให้กิจการหลายส่วนกลับมาปกติแต่กำลังซื้อยังคงอ่อนแรง ขณะที่การส่งออกยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังรุนแรงและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเมื่อใดทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวยังชะลอตัว ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และประเทศอื่นยังคงกดดันส่งออก รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินบาทที่ กกร.มีความเป็นห่วงเพราะมีอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนี้และอาจแข็งค่าอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่คาด และการดำเนินนโยบายอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐฯ” นายปรีดีกล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และต้องให้เงินจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทเกิดการต่อยอดและหมุนเวียนเศรษฐกิจได้หลายรอบเพื่อประคองเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง
“ตอนนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ต่อเนื่อง แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนติดมาแล้วเกิดแพนิกรัฐไปล็อกดาวน์อีก จนไม่สามารถปลดล็อกประเทศได้ เอกชนคงไม่อยากเห็นเพราะจะยิ่งฉุดเศรษฐกิจมากขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่โดยเฉพาะการวางตัวทีมเศรษฐกิจว่าเป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะตัดสินใจ แต่เอกชนต้องการบุคคลที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง ดูแลปากท้องประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทาง กกร.ไม่ได้มีวาระหารือเรื่องนี้
นอกจากนี้ กกร.ได้กำหนดจัดงานเสวนา "ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี" วันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อรับทราบข้อมูลประสบการณ์ และมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี ตลอดจนกระบวนการเจรจา