ส.อ.ท.กางแผนฟื้นฟู ศก.เสนอนายกฯ ดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอล (Ethanol Hub) พลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสหลังพบมีศักยภาพส่งออกแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค เหตุมีโรงงานพร้อมอยู่แล้วแค่แก้ระเบียบต่างๆ เอื้อเท่านั้น แถมตอบโจทย์ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% หนุน BCG และเศรษฐกิจฐานราก
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานและในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะผู้บริหาร ส.อ.ท.นำโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเสนอแนวทางการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอล (Ethanol Hub) เพื่ออุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 5 มาตรการสำคัญในการฟื้นฟูประเทศไทยที่ได้เสนอโดยจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบ BCG โมเดล (ศก.ชีวภาพ (Bio Economy) ศก.หมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
“นี่คือวิกฤตที่จะเปลี่ยนเป็นโอกาสของไทยเพราะที่ผ่านมาช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ จะเห็นว่าไทยขาดแคลนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและเจลทำความสะอาดมือ รัฐและเอกชนได้หารือร่วมกันและได้มีการเสนอให้กรมสรรพสามิตปลดล็อกจนนำมาสู่การนำเอาเอทานอลที่ผลิตในส่วนของเชื้อเพลิงมาใช้ในการฆ่าเชื้อและทำเป็นเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีมากเหลือเฟือและราคาก็ถูกลง ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้คือสิ่งที่จะมาช่วยฟื้นฟู ศก.หลังโควิด-19 ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกได้ทันที” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับพืชทางการเกษตรที่สำคัญ คือ อ้อย และมันสำปะหลัง ในการเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลซึ่งพบว่าเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) 100% และยังต่อยอดไปสู่ BCG โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ทุกๆ เกรดรวมกันประมาณ 33 แห่งมีกำลังผลิตรวมกันกว่า 6 ล้านลิตรต่อวัน และในจำนวนดังกล่าวมี 4 โรงงานเท่านั้นที่ผลิตเกรดสูงที่เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ 99.9% ถือว่าเป็นแอลกอฮอล์เกรดที่ดี ฆ่าเชื้อโรคได้ มีความปลอดภัย และรับประทานได้ ดังนั้นหากรัฐแก้ไขระเบียบแต่ละเกรดให้ชัดเจนปัญหาที่กังวลว่าจะนำ เอทานอลไปสู่การผลิตสุราแล้วควบคุมได้ยากก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
นายเกรียงไกรยังกล่าวถึงแนวโน้มภาคการผลิตครึ่งปีหลังปีนี้ว่า ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะเศรษฐกิจทั้งไทยและโลกยังคงเปราะบางจากผลกระทบโควิด-19 ที่แม้หลายประเทศจะเริ่มฟื้นตัวและทยอยคลายล็อกดาวน์แต่บางประเทศเริ่มกลับมาระบาดรอบที่ 2 ขณะที่การส่งออกของไทยไม่เพียงจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยแล้วยังเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทที่เริ่มมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล่าสุดเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวระดับ 30.97-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากแข็งค่าต่อเนื่องก็จะซ้ำเติมการส่งออกไทยให้ชะลอตัวมากขึ้น
“ผมคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะเห็นสัญญาณถึงเศรษฐกิจที่เปราะบางซึ่งจะกระทบต่อการที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อาจอ่อนแรงและไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ซึ่งที่สุดจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจึงได้มีมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน เพื่อเป็นกระสุ้นป้องกันเอาไว้ก่อน ซึ่งภาคเอกชนเองก็กังวลประเด็นเหล่านี้เช่นกันเมื่อครั้นพบนายกฯ จึงได้เสนอขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท.5 แสนล้านบาท ต่อหลังจากหมด พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว