xs
xsm
sm
md
lg

หั่นจีดีพีติดลบ8%-ลุ้น4แสนล้านฟื้นศก.ครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - กกร. ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่ จีดีพีติดลบ 5-8% จากเดิมประเมินไว้ที่ติดลบ 3-5% ส่งออกติดลบ 7-10% และเงินเฟ้อติดลบ 1.0-1.5% หลังประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะหดตัวสู่ตัวเลขสองหลัก เซ่นพิษโควิด-19 ระบาดหนัก ฉุดส่งออก-การท่องเที่ยว บวกกับแรงซื้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมหวังเงินเยียวยา 4 แสนล้านบาทจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ขณะที่สภาหอฯ หวังนายกฯ คัดทีมเศรษฐกิจที่สามารถขับเคลื่อนงานได้ทันที "อุตตม" ยืนยันเตรียมพร้อมใช้งบเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่หนักสุดในรอบ 150 ปี

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 เป็น -8% ถึง -5% จากเดิมที่ -5% ถึง -3% การส่งออก -10% ถึง -7% จากเดิม -10% ถึง -5% และเงินเฟ้อ -1.5% ถึง -1% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านและคาดการณ์ไตรมาส 2/63 จะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก

“ แม้ไทยจะคลายล็อก ทำให้กิจการหลายส่วนกลับมาปกติ แต่กำลังซื้อยังคงอ่อนแรง ขณะที่การส่งออกยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังรุนแรงและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเมื่อใด ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวยังชะลอตัว ประกอบกับ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และประเทศอื่นยังคงกดดันส่งออก รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินบาทที่กกร.มีความเป็นห่วงเพราะมีอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนี้”นายปรีดีกล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และต้องให้เงินจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทเกิดการต่อยอดและหมุนเวียนเศรษฐกิจได้หลายรอบเพื่อประคองเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่โดยเฉพาะการวางตัวทีมเศรษฐกิจว่า เป็นเรื่องของนายกฯที่จะตัดสินใจแต่เอกชนต้องการบุคคลที่สามารถมาขับเคลื่อนนโยบายต่างๆให้เกิดความต่อเนื่อง ดูแลปากท้องประชาชนได้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทาง กกร. ไม่ได้มีวาระหารือเรื่องนี้

นอกจากนี้กกร.ได้กำหนดจัดงานเสวนา”ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” วันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อรับทราบข้อมูลประสบการณ์ และมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคีตลอดจนกระบวนการเจรจา

“อุตตม” ยันใช้งบเยียวยารัดกุม

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึง กรณีที่หลายฝ่ายกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบ 150 ปี รวมถึงประเทศไทย ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ รัฐบาลได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง 2 เรื่องหลัก คือ 1.ด้านสาธารณสุข ที่ไทยได้รับการยอมรับว่าสามารถจัดการได้ผลดี 2.เรื่องปากท้องความเป็นอยู่ประชาชน รัฐบาลดำเนินการเร่งเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งหมดกว่า 30 ล้านคน

ส่วนที่กำลังเริ่มต่อไป คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยหลายภาคส่วนมองว่าวิธีธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในการปรับตัว เน้นแผนงานกิจกรรมระดับพื้นที่และชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประชาชน เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวจากภายนอกต้องใช้เวลาฟื้นตัว จึงต้องประคับประคองในประเทศไปก่อน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะได้มีความพร้อมก้าวไปข้างหน้า

สำหรับเสถียรภาพทางการคลัง รัฐบาลดูแลใกล้ชิด มีวินัยการเงินการคลังที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไป ส่วนการกู้ยืมเพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 ก็ยืนยันว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ใกล้ชิดรัดกุม ไม่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ รัฐบาลตระหนักดีว่าผลกระทบรุนแรงและไม่ได้นิ่งนอนใจ

นายอุตตม ยังกล่าวถึงความสามารถการจัดเก็บรายได้ ซึ่งในอดีตต่ำกว่าเป้าว่า ที่ผ่านมาการประมาณการรายได้มีกลไกที่ใช้อยู่เป็นประจำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนความกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีอากรต่ำกว่าเป้าหมายนั้น เป็นเพราะรัฐบาลช่วงปี 2556 ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อเนื่องมาจากผลกระทบราคาน้ำมันลดลงรุนแรงในปี 2558 และ 2559 ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีอากร ซึ่งรัฐบาลช่วงกลางปี 2557 ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้เข้ากับเป้าหมายมากขึ้น ปิดช่องว่างให้ลดน้อยลง จนเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายในปี 2562 ซึ่งรัฐบาลยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ นอกจากภาษีอากรอีก เพื่อทดแทนรายได้ภาษีอากรที่ชาดหายไปบางช่วงเวลา ทำให้การจัดเก็บรายได้ในภาพรวมสูงกว่าเป้าหมายตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น