“กกร.” เปิดเวทีรับฟังความเห็น CPTPP ย้ำจุดยืนหนุนไทยร่วมเจรจา ดึงชาติสมาชิกทั้งเวียดนาม ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ร่วมให้ข้อมูลยันหนุนการค้าเพิ่มแต่ก็จะมีผลกระทบบ้างเช่นกัน “เจโทร” โวช่วยดัน ศก.ญี่ปุ่นปีที่แล้วเพิ่มถึง 1.5%
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยหลังการเปิดงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” ซึ่งจัดโดย กกร.ว่า เป็นการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นข้อมูลในการรับฟังแนวทางที่เป็นประโยชน์และมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี ข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งภาพรวมมองว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษหากได้เข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดย กกร.ยังคงยืนยันจุดเดิมในการสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา
“กกร.ต้องการตอบคำถามถึงภาคประชาสังคมที่ยังไม่สบายใจในหลายๆ ประเด็น ขณะที่ กกร.เองยังคงย้ำจุดยืนในการสนับสนุนการเข้าร่วมเจรจา เพราะจะทำให้ประเทศไทยได้รับทราบข้อมูลเชิงลึก และหากเห็นว่าจะเกิดผลเสียต่อประเทศมากเกินไปก็พร้อมที่จะสนับสนุนการยกเลิกเจรจาทันที” นายปรีดีกล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนและต้องตัดสินใจให้เร็วว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม และ กกร.เองเห็นพ้องต้องกันว่าการเข้าไปร่วมเจรจาน่าจะเป็นจุดที่เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ได้จัดตั้งคณะทำงาน โดยมีนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ศึกษาถึงผลกระทบ ข้อเท็จจริง รวมทั้งประเด็นที่ดีและไม่ดีต่างๆ สำหรับประเด็นที่ไม่ดีต้องกลับมาศึกษาว่าสามารถเจรจาต่อรองได้หรือไม่ หากไทยได้เข้าร่วมในฐานะผู้ก่อตั้ง จะช่วยให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุดได้
นายเจิ่น ถิ แทง มี ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวในการเสวนาว่า สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดคือ ภายหลังการเข้า CPTPP แล้ว เวียดนามมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับทุกประเทศ ยกเว้นออสเตรเลีย โดยเวียดนามจะพยายามให้ข้อมูลและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก CPTPP แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ CPTPP อาจส่งผลกระทบทางลบแก่สินค้าบางประเภท เช่น ยานยนต์ เกษตร สินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น
นายฮิ้วจ์ โรบิลลิอาร์ด รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า CPTPP ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว การส่งออกของออสเตรเลียมีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ออสเตรเลียยังไม่เคยมี FTA ด้วยอย่างแคนาดาและเม็กซิโก โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ออสเตรเลียเข้าร่วม CPTPP นั้นยังมองไม่เห็นภาพการเติบโตทางการค้าที่ชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าหลังจากนี้การค้าการลงทุนจะมีแนวโน้มที่เติบโตมาก
นายเรียวเฮ กามาดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการว่า CPTPP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปีที่ผ่านมาเติบโต 1.5% หรือคิดเป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การเข้าร่วม CPTPP ทำให้ญี่ปุ่นมีประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ญี่ปุ่นยังไม่มี FTA ร่วมกัน หากเมื่อเทียบกับกรอบ FTA ที่ญี่ปุ่นมีกับไทย (JTEPA) หรือญี่ปุ่นกับอาเซียน (AJCEP) พบว่า CPTPP มีอัตราการลดภาษีที่ครอบคลุมมากกว่า ส่วนของผลกระทบด้านลบ ภาคเกษตรคือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาโดยการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานการผลิต