xs
xsm
sm
md
lg

กกร.หนุนถกCPTPP นักลงทุนญี่ปุ่นขู่ทิ้งไทย โวช่วยการค้าขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“กกร.”เปิดเวทีรับฟังความเห็น CPTPP ย้ำจุดยืนหนุนไทยร่วมเจรจา “หอการค้าไทย”เผยนักลงทุนญี่ปุ่น ขู่ย้ายฐานการผลิตหนีไทยไปเวียดนาม หากไม่ได้เข้าร่วมความตกลง CPTPP ดึงชาติสมาชิกร่วมให้ข้อมูลยันหนุนการค้าเพิ่มแต่ก็จะมีผลกระทบบ้างเช่นกัน

วานนี้ (2 ก.ค.) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยหลังการเปิดงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” ซึ่งจัดโดย กกร.ว่า เป็นการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นข้อมูลในการรับฟังแนวทางที่เป็นประโยชน์และมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี ข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิกหรือ CPTPP ซึ่งภาพรวมมองว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษหากได้เข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดย กกร.ยังคงยืนยันจุดเดิมในการสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา

“กกร. ต้องการตอบคำถามถึงภาคประชาสังคมที่ยังไม่สบายใจในหลายๆประเด็น ขณะที่ กกร.เองยังคงย้ำจุดยืน ในการสนับสนุนการเข้าร่วมเจรจา เพราะจะทำให้ประเทศไทยได้รับทราบข้อมูลเชิงลึก และหากเห็นว่าจะเกิดผลเสียกับประเทศมากเกินไปก็พร้อมที่จะสนับสนุนการยกเลิกเจรจาทันที”นายปรีดี กล่าว

ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนและต้องตัดสินใจให้เร็วว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม และกกร.เองเห็นพ้องต้องกันว่าการเข้าไปร่วมเจรจาน่าจะเป็นจุดที่เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ และเชื่อว่าหากไทยได้เข้าร่วมในฐานะผู้ก่อตั้ง จะช่วยให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุดได้

ห่วง “ญี่ปุ่น” หนี-หากไทยยึกยัก

นายกลินท์ เปิดเผยด้วยว่า หอการค้าไทยได้หารือกับหอการค้าญี่ปุ่น ซึ่งได้สอบถามถึงการเข้าร่วม CPTPP ของไทย โดยหอการค้าญี่ปุ่นได้แจ้งว่า ความตกลง CPTPP ถือเป็นจุดบวก และต้องการให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา เพราะเป็นข้อได้เปรียบที่ไทยจะสามารถดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ แต่หากว่าไทยไม่เข้าร่วม ก็อาจทำให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นย้ายการลงทุนจากไทยไปประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาขิก CPTPPแทนไทยได้

“หอการค้าญี่ปุ่นได้แจ้งว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม เพราะไทยมีหลายอย่างน่าสนใจ ส่วน CPTPP ถือเป็นจุดบวกที่ไทยควรเข้าเจรจา เพราะจะทำให้มีการลงทุนจากทั่วโลก รวมทั้งญี่ปุ่นเข้ามายังไทย แต่หากไทยไม่เข้าร่วม มีโอกาสที่การลงทุนจากญี่ปุ่นจะย้ายไปเวียดนามแทน ดังนั้น ภาคเอกชนเห็นว่า ต้องมีความชัดเจนจากรัฐบาลถึงจุดยืนต่อการเข้าร่วม CPTPPเพราะขณะนี้เป็นการเตะไปเตะมา จะเอาหรือไม่เอา ซึ่งรัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจน เพราะการสมัครขอเข้าเจรจาเข้าร่วม CPTPPควรตัดสินใจให้เร็ว” นายกลินท์ กล่าว

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วม CPTPP สภาผู้แทนราษฎร ขอยืดระยะเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ทำให้ไทยอาจสมัครขอเจรจาเข้าร่วม CPTPPไม่ทันเดือนส.ค.นี้ และต้องรอสมัครปีหน้านั้น นายกลินท์ มองว่าถ้าปีนี้ไทยสมัครเข้าร่วมเจรจาไม่ทัน และไปสมัครปีหน้าแทน ก็อาจทำให้การเจรจายากขึ้น เพราะไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง จากเดิมเจรจา 7 ประเทศ แต่ปีหน้าจะต้องเจรจาเพิ่มอีก 4 ประเทศ ที่กำลังจะลงสัตยาบันเป็นสมาชิก

ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้จะสมัครขอเข้าเจรจา CPTPPทันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นสภาฯ ที่จะเสนอรัฐบาล แต่ในเวทีประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการหารืออย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง รวมทั้งมีการเสนอแนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วยการตั้งกองทุน FTA ขึ้นมาดูแล ซึ่งจะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป

3ชาติสมาชิกร่วมให้ข้อมูล

ในการเสวนายังได้เชิญตัวแทนจากชาติสมาชิก CPTPP มาร่วมให้ข้อมูลด้วย โดย นายเจิ่น ถิ แทง มี ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังการเข้า CPTPP แล้ว เวียดนามมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับทุกประเทศ ยกเว้น ออสเตรเลีย โดยเวียดนามจะพยายามให้ข้อมูลและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก CPTPP แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ CPTPP อาจส่งผลกระทบทางลบแก่สินค้าบางประเภท เช่น ยานยนต์ เกษตร สินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น

ขณะที่ นายฮิ้วจ์ โรบิลลิอาร์ด รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า CPTPP ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว การส่งออกของออสเตรเลียมีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ออสเตรเลียยังไม่เคยมี FTA ด้วยอย่างแคนาดาและเม็กซิโก

เช่นเดียวกับ นายเรียวเฮ กามาดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการว่า CPTPP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปีที่ผ่านมาเติบโต 1.5% หรือคิดเป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การเข้าร่วม CPTPP ทำให้ญี่ปุ่นมีประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ญี่ปุ่นยังไม่มี FTA ร่วมกัน หากเมื่อเทียบกับกรอบ FTA ที่ญี่ปุ่นมีกับไทย (JTEPA) หรือญี่ปุ่นกับอาเซียน (AJCEP) พบว่า CPTPP มีอัตราการลดภาษีที่ครอบคลุมมากกว่า ส่วนของผลกระทบด้านลบ ภาคเกษตรคือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาโดยการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานการผลิต

4 ส.ค้าเมล็ดพันธุ์พืชหนุนร่วม

ทางด้าน นายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ได้ลงนามร่วมกับนายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกในหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมCPTPP โดยระบุว่าสนับสนุนการเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยห่วงกังวลอยู่

นอกจากนี้ยังได้แนบคำชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์ภายใต้ UPOV 1991 และข้อยกเว้นในสิทธิ์ไปด้วย โดยระบุว่านักปรับปรุงพันธุ์ผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการผลิตหรือจําหน่ายด้วยประการใด นําเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ แต่มีข้อยกเว้นซึ่งอนุญาตให้เกษตรกรที่ได้รับพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองมาอย่างถูกต้อง สามารถเก็บผลผลิตจากการเพาะปลูกพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองนั้น เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สําหรับการปลูกในฤดูกาลถัดไปในพื้นที่ของตนเอง และสามารถจําหน่ายผลผลิตที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น