“กกร.” เตรียมนัดหารือ 5 ก.พ.นี้ เพื่อประเมินตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 หลังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนากระทบการท่องเที่ยว รวมถึงฝุ่น PM 2.5 และภัยแล้ง
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 5 ก.พ.นี้จะมีการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการส่งออกปี 2563 ที่ก่อนหน้านี้ กกร.ได้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโต 2.5-3% ส่งออกโต 0-ติดลบ 2% และเงินเฟ้อ 0.8-1.5%
“ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศปัญหาเรื่องฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัจจัยภายในบางส่วนมีผลกระทบเช่นกัน จึงต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา” นายสุพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ดำเนินโครงการศูนย์/อู่บริการซ่อมรถ ลดฝุ่น PM 2.5 รวมศูนย์บริการกว่า 400 แห่ง เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 10-29 ก.พ.นี้ ซึ่ง 7 ค่ายรถยนต์เข้าร่วมโครงการ คาดว่า จะสามารถรองรับบริการได้ประมาณ 1.5 แสนคัน
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.คงต้องประเมินผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรนา ที่แพร่กระจายว่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างไรเป็นสำคัญซึ่งยอมรับว่า นักท่องเที่ยวจีนที่หายไปจะกระทบภาพรวมต่อเศรษฐกิจได้ แต่ขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาว่าจะสามารถดึงการท่องเที่ยวที่อื่นมาเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงปัจจัยภายในทั้งฝุ่น PM 2.5 และภาวะภัยแล้งที่จะกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยในระยะต่อไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2563
“เรายังเชื่อมั่นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมาจะดูแล แต่บางมาตรการใดที่รัฐออกมาแล้วอาจจะต้องมีการทบทวนเราก็คงต้องเสนอไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อมาใช้ดำเนินงานตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อไม่กระทบสภาพคล่องเอกชนและช่วยเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว” นายกลินท์กล่าว