xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.หวั่น ศก.ไตรมาสแรกไม่สดใส เหตุไวรัสโคโรนาเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ส.อ.ท." หวั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกไม่ฟื้นหลัง "ไวรัสโคโรนา" เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเข้ามาแบบไม่คาดคิด แถมปัจจัยภายในประเทศงบประมาณที่ล่าช้าซ้ำเติม ขณะที่วิตกภัยแล้งหากรุนแรงจะซ้ำเติมหนักขึ้น โรงงานเร่งเตรียมแผนรับมือ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นช่วงไตรมาสแรกปี 2563 มีความน่าเป็นห่วงเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่คาดคิดจากภายนอกว่าด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่หากรัฐบาลจีนไม่สามารถควบคุมให้จบได้ภายในไตรมาสแรกจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย และหากยืดเยื้อก็จะทำให้กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมทั้งปี 2563 ที่อาจชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้

"คงต้องติดตามใกล้ชิดว่าจีนจะแก้ไขปัญหาไวรัสโคโรนาให้จบเร็วมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่จบใน ก.พ.-มี.ค.ก็ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นเพราะปัญหานี้จะกระทบต่อการส่งออกของไทยเพราะจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญแต่ผลกระทบจากปัญหานี้ทำให้จีนมีการปิดประเทศและเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง และยังกระทบท่องเที่ยวเพราะนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน หากยิ่งนานก็ยิ่งจะหายไปจำนวนมาก มีการประเมินว่าหากยืดเยื้อ 3 เดือนเงินจะหายไปราว 50,000-100,000 ล้านบาท" นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตามใกล้ชิด ร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่มีการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าจะเป็นโมฆะ หรือผ่านบางงบหรือไม่อย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะผ่านในรูปแบบใดก็ต้องยอมรับว่างบประมาณได้ล่าช้าไปมากนับตั้งแต่ ต.ค. 62 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินที่จะอัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจให้ยิ่งล่าช้าออกไปอีก

"คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโต 2.5-3% ส่งออก -2 ถึง 0% ซึ่งดีกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่เราคงจะต้องติดตามใกล้ชิด" นายเกรียงไกรกล่าว

ส่วนปัจจัยภายในประเทศที่คงต้องติดตามอีก คือภัยแล้งว่าจะรุนแรงหรือไม่ เพราะหากรุนแรงจะกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจไม่สามารถเพาะปลูกได้เลย ซึ่งจะทำให้รายได้ของภาคเกษตรลดลงและจะกระทบต่อแรงซื้อในประเทศ ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มมีความวิตกกังวลว่าน้ำจะเพียงพอหรือไม่โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา


ทั้งนี้ เอกชนได้มีการหารือเบื้องต้นเพื่อรองรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดวิกฤตที่รุนแรงเช่นเดียวกับปี 2548 ทั้งการนำระบบกลั่นน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด แม้ว่าต้นทุนจะแพงแต่ก็ยังดีกว่าขาดน้ำในกระบวนการผลิต รวมไปถึงแนวทางการซื้อน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม บางรายได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการเจาะน้ำบาดาลและขุดบ่อกักน้ำไว้บางส่วนแล้วเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น