ส.อ.ท.แนะแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งภาคขนส่งโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมระยะเร่งด่วนทั้งการขอความร่วมมือโรงงานปรับกระบวนการผลิต เพิ่มการติดตามใกล้ชิด หนุนใช้ดีเซลบี 10-บี 20 ระยะยาวใช้รถ EV ยอมรับกังวลการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรรทุกเข้ากรุงเทพฯ และชั้นในอาจกระทบการขนส่งและส่งออกได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส.อ.ท.เห็นว่าแนวทางดำเนินการในระยะเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้นจะขอความร่วมมือให้โรงงานทุกกระบวนการผลิตปรับหัวเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ (Boiler) ให้มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ให้โรงงานติดตามและป้องกันผลกระทบ และให้มีการหยุดซ่อมบำรุงตามตารางดำเนินการและช่วงวิกฤต รวมถึงเพิ่มเติมมาตรการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ส่วนของภาคขนส่ง ควรสนับสนุนการตรวจสอบสภาพรถ การทำความสะอาดท่อไอเสีย และห้ามรถที่ปล่อยควันดำวิ่งออกนอกโรงงาน สนับสนุนให้รถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 มาตรการสนับสนุนโครงการการปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ ทั้งการหารูปแบบ (Model) และหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการฯ เช่น การสนับสนุนค่าแรง การเปลี่ยนอะไหล่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
"กรณีที่ ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ส.อ.ท.กังวลในการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก และห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งการขนส่งภายในประเทศ และการขนส่งเพื่อส่งออกผ่านทางเรือขนส่ง ประกอบกับผู้ประกอบการอาจขาดสภาพคล่องจากการได้รับเงินล่าช้า เกิดมลพิษเพิ่มทางอากาศในวันคู่ที่มีรถบรรทุกเข้ามาวิ่ง ซึ่งจะต้องมีการวิ่งรถในหลายเที่ยวเพื่อทดแทนวันคี่" นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับระยะยาว ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบายโดยเฉพาะรถสาธารณะต่างๆ ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.จะขอความร่วมมือผ่านภาครัฐกับบริษัท Huawei ซึ่งมีประสบการณ์ในการสำรวจพื้นที่ในประเทศจีนว่ามีฝุ่นละออง (PM) ขนาดใดบ้างตามวิธีดำเนินการเพื่อวางแนวทางแก้ไขฝุ่นละออง (PM) ของประเทศไทยในระยะยาว เป็นต้น