สธ.ยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 6 ราย รวมทั้งหมดเป็น 14 ราย โดย 5 รายใหม่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน มาจากเมืองอู่ฮั่นก่อนปิดประเทศ ดักจับได้ที่สนามบิน 1 ราย หลังเฝ้าระวังผู้ใกล้ชิดพบครอบครัวป่วยเพิ่มอีก 4 คน จึงนำเข้าห้องแยกโรค ส่วนอีกรายมาจากหูเป่ย ทั้งหมดเป็นคนจีนติดเชื้อจากต่างประเทศ อาการไม่รุนแรง ส่วนคนสัมผัสใกล้ชิดรายอื่นยังปกติดี เผยขยายการคัดกรองคนจีนทุกคนจากทุกเมืองแล้ว
วันนี้ (28 ม.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพิ่มอีก 6 ราย รวมจากของเดิม 8 ราย เป็นทั้งหมด 14 ราย โดยรักษาหายดีกลับบ้านแล้ว 5 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่เป็นชาวจีนทั้งหมด โดยจำนวนนี้ 5 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่ลูกหลาน ซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย มีตั้งแต่อายุ 6-70 กว่าปี เป็นการติดเชื้อในครอบครัว ส่วนอีกรายมาจากหูเป่ยเช่นกัน โดยมีอาการป่วยหลังผ่านด่านแล้วจึงมาขอรับการรักษาที่ รพ. อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูรเช่นกัน ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจากภายนอกประเทศไทย สำหรับผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 136 ราย เป็นการคัดกรองได้ที่สนามบิน 29 ราย มาที่ รพ.เอง 107 ราย อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 55 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ รักษาอยู่ใน รพ. 48 ราย
นพ.สุขุม กล่าวว่า สธ.ได้ระดมบุคลากรทางการแพทย์ 5 พันคน เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำหน้าที่คัดกรองเฝ้าระวัง เช่น ให้จากปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี มาช่วยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม มาช่วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และได้รับความร่วมมือจากกรมแพทย์ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ มหาวิทยาลัย พร้อมให้ความร่วมมือดูแลผู้ป่วย สำหรับการคัดกรองจะขยายการคัดกรองเป็นคนจีนทุกคนจากทุกเมืองโดยเตรียมเครื่องมือต่างๆ เพื่อคัดกรอง 100% และได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวทุกคน และร่วมมือกับสายการบินไทยและต่างประเทศที่นำคนเข้ามา โดยขอให้มีการตรวจคัดกรองไข้ก่อนขึ้นเครื่อง หากมีไข้ก็ขอไม่ให้ขึ้นเครื่องมา รวมถึงประสานสายการบินในไทยให้ตรวจคัดกรองก่อนเดินทาง หากมีไข้ก็ไม่ให้ขึ้นเครื่อง ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่เราระแวงจีน เพราะจีนก็ระแวงเราเหมือนกัน จึงขอให้เรามีการคัดกรองด้วย นอกจากนี้ จะกระตุ้นจิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยดูแลสถานที่บ้านพักประชาชน แหล่งต่างๆ เพื่อดูแลมากขึ้น
"สำหรับการคัดกรองที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การคัดกรองในชุมชน ถ้าหากพบเห็นคนจีนที่มีไข้ไอจามน้ำมูกอาจต้องให้แจ้งเข้ามา เพื่อจะได้เข้าไปดูแล หรือให้คำแนะนำให้ไป รพ. ซึ่งจะเห็นว่าการคัดกรองผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมา รพ.เองมากกว่าคัดกรองที่สนามบิน ส่วนการป้องกันคือเลี่ยงไปสถานที่แออัด ไม่เข้าใกล้คนป่วย กินร้อนช้อนกลางล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย โดยสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมซัพพลายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือให้เพียงพอ นอกจากนี้ สถานที่ที่มีคนหนาแน่นแนะนำว่า ต้องพยายามดูแลรักษาความสะอาด เพราะเชื้อไวรัสจะอยู่ที่ละอองฝอยอาจตกค้างอยู่ที่ตามประตู กลอนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาห้องแล็บทั่วประเทศในการทำเรียลไทม์พีซีอาร์ ให้ได้ผลการตรวจเชื้อใน 3 ชั่วโมง เพื่อวางแผนรักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น โดยช่วงบ่ายวันที่ 28 ม.ค. สธ.จะมีการลงพื้นที่ให้คำแนะนำประชาชนที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในการป้องกันตัวเอง" นพ.สุขุมกล่าว
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ 5 รายที่เป็นครอบครัวเดียวกันนั้น พบว่า เป็นการเดินทางมาเที่ยวกันเองรวมกันทั้งหมด 7 คน ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปิดเมืองอู่ฮั่น โดยรายหนึ่งมีอาการป่วยตั้งแต่ก่อนเดินทางมา 3-4 วัน ซึ่งเมื่อมาถึงสนามบินเราก็ตรวจจับผู้ป่วยรายนี้ได้ และนำเข้าห้องแยกโรคสถาบันบำราศนราดูร ส่วนอีก 6 คนที่เหลือมีการติดตามอาการทุกวันเพราะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยพบภายหลังว่า 4 ราย เริ่มมีอาการป่วย เมื่อมีอาการก็นำเข้าห้องแยกโรคสถาบันบำราศฯ เช่นกัน ฉะนั้น โอกาสที่ 4 คนจะออกไปแพร่โรคจึงน้อยมาก ซึ่งการติดเชื้ออาจรับเชื้อพร้อมกันแต่แสดงอาการภายหลัง หรืออาจรับระหว่างเดินทางก็ได้ สำหรับอีกคนหนึ่งมาจากมณฑลหูเป่ยเช่นกัน โดยทั้งหมดไม่มีรายใดอาการรุนแรง และอาการเริ่มดีขึ้น
ถามถึงกรณีผู้สัมผัสใกล้ชิดรายอื่นๆ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าวว่า มีอยู่ประมาณ 22 คน ได้ติดตามอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งเดินทางกลับไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมีรายชื่อในมือก็ตรวจสอบทุกวันพบว่าปกติดี
เมื่อถามถึงกรณีการพบผู้ป่วยยืนยันที่กัมพูชาต้องระวังด่านชายแดนหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช้แค่กัมพูชาที่เจอ มาเลเซียก็เจอหลักการคือตราบใดยังไม่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ ผู้ที่เจอถ้ายังเป็นผู้เดินทางเข้า ก็เป็นหลักฐานที่ดีพอว่าพื้นที่นั้นยังไม่มีการแพร่ระบาด จนกว่าจะบอกว่ามีคนกัมพูชาติดเชื้อ แต่ถ้ายังยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ความเสี่ยงจากโรคในประเทศนั้นยังต่ำอยู่ และประเทศเราไม่ได้มีทรัพยากรทำทุกเรื่องอย่างเต็มที่ และชายแดนไทยกับเพื่อนหลายจุดก็ไม่ได้มีประตู
ถามถึงกรณีการตรวจคัดกรองที่ท่าเรือคลองเตย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงของจุดที่เข้าเมืองมี 2 ปัจจัย คือ 1.จำนวนผู้เดินทางเข้า ถ้ายิ่งเข้าเยอะความเสี่ยงจะเจอผู้ป่วยก็เอยะ 2.ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจากจุดเริ่มต้นมาจากจุดหมายปลายทาง หากใช้เวลานานมากโอกาสเจอคนป่วยก็จะน้อยลง เพราะโรคที่รู้กันคือระยะฟักตัวสั้น หากออกจากท่าเรือกว่าจะมาถึงเมืองไทยใช้เวลาหลายสิบวันกว่าจะถึง โอกาสเจอก็จะน้อยตามไปด้วย ถ้าเทียบกันระหว่างท่าเรือกับท่าอากาศยาน จะพบวา ท่าอากาศยานมีผู้เดินทางมากกว่าเยอะ และระยะเวลาที่ใช้เดินทางก็สั้นกว่าทางเรือมาก