"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
หลังจากดำรงตำแหน่งไม่ครบเดือนเต็มนัก นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ตัดสินใจลาออกโดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่นั่นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎเป็นทางการเท่านั้น คำถามคืออะไรคือเหตุผลและสาเหตุที่ลึกลงไปที่ส่งผลให้เกิดลาออก ความหมายของการลาออกครั้งนี้ในทางการเมืองคืออะไร และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างไร
นายปรีดี ดาวฉายเป็นนักบริหารที่อยู่ในแวดวงธุรกิจธนาคาร ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยใช้โควต้าของนายกรัฐมนตรี แทน นายอุตตมะ สาวนายน อดีตรมต. คลัง ที่ถูกกดดันให้ลาออก นายกรัฐมนตรีแสวงหาและทาบทามบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นรมต.คลัง หลายคน บางคนปฏิเสธ ทว่า นายปรีดี ตอบรับเข้ามาดำรงตำแหน่ง
เหตุผลที่คนจำนวนหนึ่งปฏิเสธตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะพวกเขาตระหนักว่าภายใต้บริบทการเมืองในปัจจุบัน การเป็นรัฐมนตรีคนนอกภายใต้โควต้านายกรัฐมนตรีจะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองภายในพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีขาดความเป็นอิสระ และหากใช้อำนาจขัดแย้งกับความต้องการของกลุ่มอิทธิพลในพรรคแกนนำรัฐบาล โอกาสที่จะประสบชะตากรรมเดียวกับกลุ่มนายอุตตมะ ก็มีสูงยิ่ง
นายปรีดี เองก็คงมีความตระหนักเช่นนี้อยู่ ในตอนแรกที่มีการทาบทามเขาอาจไม่เต็มใจเข้ารับตำแหน่งมากนัก แต่ในที่สุดก็ตอบรับเข้ามาดำรงตำแหน่ง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า มีปัจจัยภายนอกบางอย่างทำให้เขาเปลี่ยนใจเข้ารับตำแหน่ง เช่น มีบุคคลที่เขาเคารพนับถือสนับสนุนให้เข้าไปดำรงตำแหน่ง หากเป็นเช่นนั้น เราอาจอนุมานได้ว่า นายปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยปราศจากเจตจำนงทางการเมืองที่เป็นของตนเอง
การที่บุคคลใดเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมิได้มีเจตจำนงทางการเมืองที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นเจตจำนงใฝ่อำนาจหรือใฝ่ประโยชน์ก็ตาม ในแง่บวกคือหากบริบทของการดำรงตำแหน่งนั้นเปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอำนาจภายนอกแทรกแซง เขาก็จะทำงานอย่างกระตือรือร้นที่เน้นผลสำเร็จของงาน ส่วนในแง่ลบคือ คนเหล่านั้นมีความเปราะบางต่ออุปสรรคทางการเมือง ดังนั้นจึงมักตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากอำนาจของกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง
การเป็นคนนอกปราศจากฐานทางการเมือง แต่หากมีอำนาจที่เหนือกว่า เช่น อำนาจนายกรัฐมนตรีสนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง ก็อาจทำให้รัฐมนตรีคนนอกมีเกราะป้องกันตนเองจากกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองสามารถกำหนดนโยบายได้ตามความเชี่ยวชาญ รวมทั้งสามารถใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งขับเคลื่อนนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมีเพียงตำแหน่ง โดยปราศจากอำนาจเหนือกว่าหนุนหลัง พวกเขาก็จะมีความเปราะบาง นโยบายที่คิดค้นออกมาก็อาจถูกท้าทายและวิจารณ์จากกลุ่มอำนาจการเมืองที่ไม่เห็นด้วย และแม้ว่าบางนโยบายจะได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาในการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กลไกการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นและบรรลุประสิทธิผลนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐมนตรีปรารถนาคือ การมีอำนาจเต็มในการจัดทีมงานและมอบหมายให้บุคคลที่ตนเองเชื่อว่ามีความสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายเหล่านั้น แต่หากไร้อำนาจในการจัดทีมงานตามที่ตนเองต้องการ ก็ย่อมเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา และหากยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากกลุ่มการเมืองที่ทรงอิทธิพลจนทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งหรือกำหนดบุคคลที่ตนคิดว่ามีความสามารถได้ในการขับเคลื่อนนโยบาย ความรู้สึกไร้อำนาจจึงเกิดขึ้นมาและย่อมรู้สึกว่าการดำรงตำแหน่งของตนเองปราศจากความหมาย ซึ่งเป็นการปรากฎของภาวะแห่งความสิ้นหวังในการใช้อำนาจหน้าที่ตามตำแหน่ง และนำไปสู่การตัดสินใจลาออกในที่สุด
นอกจากสาเหตุและเหตุผลที่ทำให้เกิดการลาออกแล้ว เรายังสามารถตีความนัยการลาออกของรมต.คลังในครั้งนี้ได้อีกอย่างน้อยสามนัย อย่างแรกคื อ อำนาจของนายกรัฐมนตรีเกิดความเสื่อมถอย เพราะไม่อาจปกป้องบุคคลภายนอกที่ตนเองเชิญให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ เมื่อรัฐมนตรีที่ตนเองเชิญมาถูกท้าทายจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นรัฐมนตรีช่วย ก็ไม่กล้าออกหน้ามาปกป้องและสนับสนุนแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสัญญาณของการเสื่อมถอยของอำนาจอย่างชัดเจน
นัยที่สอง คือบ่งบอกให้เห็นถึงพันธะความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีคนนอกว่า มิได้แข็งแกร่งแต่อย่างใด หากแต่เป็นความสัมพันธ์แบบหลวม ๆ และพร้อมที่ละทิ้งความสัมพันธ์นั้นได้ตลอดเวลา หากมีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับกลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในแง่นี้ย่อมเป็นบทเรียนสำหรับบุคคลภายนอกที่นายกรัฐมนตรีคนนี้จะทาบทามเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลังคนต่อไป และยังเป็นบทเรียนสำหรับรัฐมนตรีนอกที่ยังเหลืออยู่ในรัฐบาลอีกด้วย
สำหรับ นัยที่สาม คือ แนวทางการบริหารปกครองประเทศแบบเจือสมอำนาจหรือการมีรัฐบาลแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่มีฐานอำนาจสองแหล่ง อันได้แก่ จากการแต่งตั้งและจากการเลือกตั้งเป็นแนวทางที่สร้างปัญหาและไร้ประสิทธิผลในการบริหารประเทศในยุคปัจจุบัน รัฐบาลเจือสมอำนาจเคยใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลเมื่อสี่สิบปีที่แล้วสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อนำมาใช้ในยุคปัจจุบันซึ่งบริบทสังคมและการเมืองเปลี่ยนไปมาก จึงไม่สอดคล้องกับบริบทอีกต่อไป เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่เอื้อต่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาลคือ การมีเอกภาพของแหล่งที่มาของอำนาจ หากแหล่งที่มาของอำนาจไร้เอกภาพ ความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลก็มีโอกาสเกิดขึ้นสูงอย่างเช่นในปัจจุบันนี้
ด้านหนึ่งแหล่งที่มาของอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คือ สิ่งหลงเหลือจากการรัฐประหาร หรือมี “ศาสตรา” เป็นแหล่งอำนาจ อีกด้านหนึ่งคือการจากการเลือกตั้งหรือ มี “ประชา” เป็นแหล่งอำนาจ การแต่งตั้งรัฐมนตรีคนนอกพรรคการเมืองคือ การใช้อำนาจที่หลงเหลือจาก “ศาสตรา” ส่วนการแต่งตั้งรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองคือ การใช้อำนาจที่มีฐานจาก “ประชา” เมื่อกลุ่มคนที่มาจากฐานอำนาจต่างกันมาอยู่ในกระทรวงเดียวกันย่อมเกิดความไม่ลงรอยของการใช้อำนาจ สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้ที่มาจากฐาน “ประชา” พยายามแสดงอำนาจเหนือและข่มทับผู้ที่มีมีฐานจาก “ศาสตรา” เสมอ
อำนาจจากศาสตรายุคนี้ ย่อมไม่แข็งแกร่งเหมือนยุครัฐประหารอีกต่อไป การเป็นรัฐมนตรีโดยอาศัยฐานของอำนาจศาสตราจึงถูกท้าทายทั้งจากรัฐมนตรีที่มาจากฐานประชา และจากข้าราชการที่เห็นและเชื่อว่ารัฐมนตรีที่มีฐานจากประชานั้นมีความยืนยาวของอำนาจมากกว่ารัฐมนตรีที่มาจากฐานศาสตราซึ่งมาเพียงชั่วคราวและหายไปในที่สุด
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลาออกของ รมต.คลังในครั้งนี้คือ ทำให้ความเชื่อมั่นและความเชื่อถือต่ออำนาจของนายกรัฐมนตรีลดลง โอกาสที่จะหาคนนอกมืออาชีพที่มาเป็นรัฐมนตรีก็ยากขึ้น และทำให้ความเชื่อมั่นและประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลลดลง ความยากลำบากของประชาชนจากปัญหาเศรษฐกิจก็ยิ่งมีมากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้พลังการต่อต้านและการขับไล่รัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดรัฐบาลก็ยิ่งอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ จนถึงขั้นล่มสลายได้